องค์เกณฑ์ และ อุดมเกณฑ์

คุณสมบัติของพระเคราะห์ที่เป็นองค์เกณฑ์ ถึงแม้จะเป็นประ นิจหรือกาลกิณี ก็สงบความร้ายกาจหมด กลับส่งเสริมให้คุณแก่เจ้าชะตาตามนิสัยของพระเคราะห์นั้น ๆ

องค์เกณฑ์ คือ ดาวเคราะห์ที่อยู่ในลักษณะเป็นเกณฑ์แบบใดแบบหนึ่ง ใน ๔ แบบ ประจำราศี ๔ ประเภท ตามลัคนาสถิตคือ ราศีปัสวะเกณฑ์ ราศีนระเกณฑ์ ราศีอัมพุ และราศีกีฏะเกณฑ์ โดยมีดาวเคราะห์อยู่ตามลัคนาราศีบังคับของแต่ละราศีแล้วดาวเคราะห์นั้นได้ชื่อว่าเป็น”องค์เกณฑ์”

ลัคนาราศีเกณฑ์แบ่งได้ดังนี้

  1. ปัสวะเกณฑ์ คือ ประเภทสัตว์บก ๔ เท้า ได้แก่ ลัคนาราศี เมษ พฤศภ สิงห์
  2. นระเกณฑ์ คือ ประเภทมนุษย์ ได้แก่ ลัคนาราศี เมถุน กันย์ ตุลย์ และกุมภ์
  3. อัมพุเกณฑ์ คือ ประเภทสัตว์น้ำ ได้แก่ ลัคนาราศี กรกฏ มังกร มีน
  4. กีฏะเกณฑ์ คือ ประเภทสัตว์แมลง ได้แก่ ลัคนาราศี พิจิก

กฎเกณฑ์ข้อบังคับของแต่ละราศีมีดังนี้

โบราณจารย์กล่าวเป็นคำอรรถไว้ดังนี้ “นระเอกะ จตุอำพุ กิตตะสัตตะ ปัสวะทศ”

นระเกณฑ์ (นระเอกะ) คือ บุคคลผู้มีลัคนาใน ๕ ราศีคือ เมถุน กันย์ ธนู กุมภ์ ตุลย์ แล้วมีดาวเคราะห์ อาทิตย์หรือพฤหัสหรือเสาร์ องค์ใดองค์หนึ่ง กุมลัคนา(เป็นหนึ่ง=เอกะ) ได้ชื่อว่า ดาวเคราะห์ดวงนั้นเป็นองค์เกณฑ์ราศีนระเกณฑ์ เฉพาะผู้มีดาวพฤหัสกุมลัคนามีชื่อเรียกว่าอีกชื่อว่า “กมุทเกณฑ์” มีลักษณะดังดอกบัว ถ้าเป็นดาวพฤหัสกุมลัคนาเฉพาะในราศีกุมภ์มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า”มุตโต” แปลว่าผู้รู้ เนื่องจากราศีนี้ถือว่าดาวมฤตยูเป็นเจ้าเรือนด้วย ซึ่งนับว่าเป็นเรือนมืด ดาวพฤหัสมาอยู่ราศีนี้ทำให้สว่างขึ้นได้ เท่ากับเป็นผู้ทำให้สว่างหรือผู้รู้นั่นเอง

ท่านประพันธ์ไว้เป็นคำโคลงดังนี้

นะระสุริยะเยื้อง รังสี
โสระชีวะโดยมี ถูกต้อง
สามองค์เทพโสภี กุมลัคน์
ดวงชะตาใดดั่งพร้อง ยศนั้นนาพัน

อำพุเกณฑ์ (จตุอำพุ) คือบุคคลที่มีลัคนาสถิตใน ๓ ราศี คือ กรกฏ มังกร มีน แล้วมีดาวเคราะห์ จันทร์ พุธ พฤหัส ศุกร์ องค์ใดองค์หนึ่งเป็น ๔(จตุ) แก่ลัคนาได้ชื่อว่าดาวเคราะห์องค์นั้นเป็นองค์เกณฑ์ เฉพาะดาว ๒ ๕ ๖ เป็น ๔ แก่ลัคน์มีชื่อเรียกว่า”ปทุมเกณฑ์” ปทุมแปลว่าหอม หมายถึงคนมีเสน่ห์ เป็นที่รักที่ชอบใจคนทั้งหลาย อีกชื่อหนึ่งว่าเป็น”จัตุรเกณฑ์”

ท่านประพันธ์ไว้เป็นคำโคลงดังนี้

อัมพุชพลจุ่งแจ้ง สี่สถาน
พุธ ศุกร์ ชีวะวาร ส่งสร้อย
จันทร์องค์ประไพพาล รุจิเรก
คุณย่อมแสดงใช่น้อย ยศนั้นถึงพระยา

กีฏะเกณฑ์ (กิตตสัตตะ) คือบุคคลที่มีลัคนาสถิตในราศีพิจิกราศีเดียวแล้วมีดาวเคราะห์ คือ อังคาร ราหู องค์ใดองค์หนึ่งเป็น ๗ (สัตตะ=๗) แก่ลัคนา ได้ชื่อว่าดาวเคราะห์นั้นเป็นองค์เกณฑ์

ท่านประพันธ์ไว้เป็นคำโคลงดังนี้

กิฏะสัตตะต้อง ภุมเมนทร์
อสุรินทร์องค์เกณฑ์ กล่าวไว้
แม้ชาติตัวเวร อัปลักษณ์ ก็ดี
คุณก็แสดงให้ ยศนั้นเสมอพงศ์

ปัสวะเกณฑ์ (ปัสวะทศ) คือบุคคลที่มีลัคนาสถิตใน ๓ ราศี คือราศีเมษ พฤศภ สิงห์ แล้วมีพระเคราะห์ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พฤหัส เป็น ๑๐(ทศะ) แก่ลัคนาได้ชื่อว่าดาวเคราะห์นั้นเป็นองค์เกณฑ์

ท่านประพันธ์ไว้เป็นคำโคลงดังนี้

ปัศวะทศต้อง องค์เกณฑ์
ชีวะจันทร์ภุมเมนทร์ ผ่องแผ้ว
อีกองค์สุริเยนทร์ ทรงยศ
สี่สถานเลิศแล้ว ยศนั้นถึงพระยา

อุดมเกณฑ์ คือ ดาวเคราะห์ตามลัคนาในราศีบังคับเช่นเดียวกับองค์เกณฑ์ แต่เรียกชื่อเป็นอุดมนำหน้าคือ

  1. อุดมนระ คือบุคคลที่มีลัคนาในราศีนระ แล้วมีดาวเคราะห์ ๔ ๕ ๖ กุมลัคนาหรือเป็น ๓, ๔, ๗, ๑๑ แก่ลัคนา เรียกว่าดาวเคราะห์นั้นได้อุดมเกณฑ์ ท่านว่าเจ้าชะตาจะไม่รู้จักเข็ญใจเลย
  2. อุดมอัมพุ คือ บุคคลที่มีลัคนาในราศีอัมพุ แล้วมีดาวเคราะห์ ๓ ๕ ๗ ๘ เป็น ๔, ๕, ๙ แก่ลัคนา เรียกว่าดาวเคราะห์นั้นได้อุดมเกณฑ์
  3. อุดมกีฎะ คือบุคคลที่มีลัคนาในราศีกีฏะ แล้วมีดาวเคราะห์ ๓ ๘ เป็น ๓, ๗, ๙, ๑๒ แก่ลัคนา เรียกว่าดาวเคราะห์นั้นได้อุดมเกณฑ์
  4. อุดมปัสวะ คือบุคคลที่มีลัคนาในราศีปัสวะ แล้วมีพระเคราะห์ ๑ ๒ ๓ ๖ เป็น ๖, ๑๐ แก่ลัคนา เรียกว่าดาวเคราะห์นั้นได้อุดมเกณฑ์

คุณสมบัติของดาวพระเคราะห์ที่เป็นอุดมเกณฑ์ เช่นเดียวกับดาวเคราะห์องค์เกณฑ์