ประเพณีการทอดกฐินของพุทธศาสนิกชนไทยมีมาช้านาน โดยมีทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์ โดยการถวายผ้าพระกฐินของพระมหากษัตริย์จัดเป็นพระราชพิธีที่สำคัญประจำปี กฐิน เป็นศัพท์ในพระวินัยปิฎกเถรวาท เป็นชื่อเรียกผ้าไตรจีวรที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือนแล้ว สามารถรับมานุ่งห่มได้ โดยคำว่าการทอดกฐิน หรือการกรานกฐิน จัดเป็นสังฆกรรมประเภทหนึ่งตามพระวินัยบัญญัติเถรวาทที่มีกำหนดเวลา คือพระสงฆ์สามารถกระทำสังฆกรรมนี้ได้นับแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 โดยมีระยะเวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ และอนุเคราะห์ภิกษุผู้ทรงคุณที่มีจีวรชำรุด
กฐินพระราชทาน คือ กฐินที่พระบาทสมเด็จพระอยู่หัว พระราชทานผ้าของหลวงแก่ผู้กราบบังคมทูลขอพระราชทาน เพื่อนำไปถวายยัง วัดหลวง วัดใดวัดหนึ่งนอกเหนือจาก 16 วัดสำคัญ ที่ได้กำหนดไว้แล้ว เนื่องจากในปัจจุบัน วัดหลวงมีจำนวนมาก จึงเปิดโอกาสให้กระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ ตลอดจนคณะบุคคลองค์กร บริษัทห้างร้านต่าง ๆ ที่เห็นสมควรรับพระราชทานผ้ากฐิน ไปถวายแทนพระองค์ และผู้ที่ได้รับพระราชทานผ้ากฐิน จะเพิ่มไทยธรรมเป็นส่วนตัว โดยเสด็จพระราชกุศลตามกำลังศรัทธาด้วยก็ได้ผู้ที่มีความประสงค์จะขอรับพระราชทานผ้ากฐินไปถวาย ณ วัดหลวงแห่งใดแห่งหนึ่งจะต้องจองกฐินไว้ล่วงหน้าก่อน ในการนำ ผ้ากฐินพระราชทานไปถวายวัดหลวงแห่งใดแห่งหนึ่ง ผู้ที่นำไปจะต้องกล่าวถวายต่อหน้าหมู่สงฆ์ ณ วัดนั้น ว่า “ผ้ากฐินพระราชทาน กับทั้งผ้าอานิสงส์บริวารทั้งปวงนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ กอปรด้วยพระราชศรัทธา โปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าน้อมนำมาถวายแด่พระสงฆ์ ซึ่งจำพรรษากาลด้วยไตรมาส ในอาวาสวิหารนี้ ขอพระสงฆ์จงรับผ้ากฐินพระราชทานนี้ กระทำกฐินัตถารกิจ ตามพระบรมพุทธานุญาตนั้น เทอญ”
อานิสงส์ของกฐิน
การทำบุญทอดกฐินนับได้ว่าเป็นการทำบุญที่มีอานิสงส์มากทั้งผู้ถวายคือญาติโยมพุทธบริษัท และพระสงฆ์ที่รับกฐิน
พระจะได้รับอานิสงส์ 5 ประการคือ
1. เข้าบ้านได้โดยมิต้องบอกลาพระภิกษุด้วยกัน
2. เอาไตรจีวรไปโดยไม่ครบสำรับได้
3. ฉันอาหารเป็นคณะโภชน์ได้
4. เก็บจีวรไว้ได้ตามปราถนา
5. ลาภที่เกิดขึ้นเป็นของเธอผู้จำพรรษาในวัดนั้น
สำหรับผู้ทอดกฐิน ก็จะได้รับอานิสงส์ 5 ประการ
1. ทำให้มีอายุยืนยาว
2. ทำให้บริบูรณ์ด้วยทรัพย์
3. จะไม่ถูกวางยาพิษให้เป็นอันตรายถึงชีวิต
4. ทรัพย์สมบัติจะไม่เป็นอันตรายด้วยโจรภัยหรืออัคคีภัย
5. จะได้เป็นเอหิภิกขุในอนาคต
มีเรื่องเล่าว่า ในครั้งศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มีชายยาจกคนหนึ่งอาศัยท่านศิริธรรมเศรษฐี เลี้ยงชีพโดยการเฝ้าไร่หญ้า จึงมีชื่อว่าติณบาล ได้อาหารเป็นค่าจ้างวันละหม้อ เขาคิดว่าเรายากจนต้องมาทนรับใช้คนอื่นเช่นนี้ ก็เพราะไม่ได้ทำทานไว้ เขาจึงแบ่งอาหารเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งถวายแด่ภิกษุที่มาบิณฑบาต ส่วนหนึ่งตนบริโภค ทำอยู่เป็นเวลานาน ท่านเศรษฐีสงสารจึงเพิ่มอาหารให้อีก 1 ส่วน เขาเอาส่วนที่ได้เพิ่มมาให้แก่พวกยากจนเอาไปกิน
ต่อมาเป็นวันออกพรรษา ท่านเศรษฐีจะทอดกฐินจึงประกาศให้คนในบ้านได้มีส่วนร่วมกุศลด้วย นายติณบาลได้ฟังมาว่า การทอดกฐินได้บุญมากอยากจะร่วมกุศลด้วย แต่หาของร่วมไม่ได้ จนใกล้วันทอด จึงตัดสินใจเอาผ้านุ่งของตนออกมาพับแล้วกลัดใบไม้นุ่งแทน เที่ยวเดินขายตามตลาด ประชาชนเห็นเข้าก็พากันเยาะเย้ยต่างๆนานา เขาตอบว่า พวกท่านอย่าเยาะเย้ยเราเลยเรายากจน เราจะนุ่งใบไม้เฉพาะชาตินี้เท่านั้น ชาติต่อๆไปเราจะนุ่งห่มผ้าทิพย์ ในที่สุดเขาก็ขายได้ราคา 5 มาสก 1 บาท จึงเอาเงินไปให้เศรษฐี ท่านเศรษฐีเอาเงินนั้นซื้อด้ายสำหรับเย็บจีวร กิตติศัพท์ เกียรติคุณที่เขาทำบุญได้ลือกระฉ่อนจนทราบถึงพระเจ้าแผ่นดิน จึงมีรับสั่งให้เข้าเฝ้า เขาบอกว่าไม่มีผ้านุ่ง พระราชาจึงสั่งพระราชทานผ้านุ่งราคาหนึ่งแสนไปให้เขาแล้วพระราชทานบ้าน ทรัพย์ ช้าง ม้า วัว ควาย ทาส ทาสีแก่เขาเป็นจำนวนมาก เขานึกถึงบุญคุณของบุญกุศลจึงได้ทำบุญเป็นการใหญ่ และพยายามสร้างฐานะจนได้เป็นเศรษฐี ในกาลต่อมาเมื่อเขาตายแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีความสุขอันเป็นทิพย์ทุกอย่าง มีนางเทพอัปสรเป็นบริวารหนึ่งหมื่นคน แม้ท่านเศรษฐีเมื่อตายแล้ว ก็ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดเยวกัน มีความสุขอันเป็นทิพย์เช่นกัน
การทอกกฐินเป็นกาลทาน ปีหนึ่งทำได้ครั้งเดียว วันหนึ่งทำได้ครั้งเดียว ในปีหนึ่ง ๆ ต้องทำภายในกำหนดเวลา และผู้ทอดก็ต้องตร
ะเตรียมจัดทำเป็นงานใหญ่ ต้องมีผู้ช่วยเหลือหลายคน จึงนิยมกันว่าเป็นพิธีบุญที่อานิสงส์แรง น่าคิดอีกทางหนึ่งว่า พิธีเช่นนี้ได้ทั้งโภคสมบัติเพราะเราเองบริจาค ได้ทั้งบริวารสมบัติเพราะได้บอกบุญแก่ญาติมิตรให้มาร่วมการกุศลกาลทาน
ในปีนี้ วีอาร์ดี ร่วมทำบุญในพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ณ วัดพญาภู ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ดูรายละเอียดประวัติและที่ตั้งของวัด
ขอบคุณ ที่มา
ประวัติกฐินพระราชทาน
อานิสงส์ของกฐิน