ประเพณีทิ้งกระจาด เป็นประเพณีทางศาสนาพุทธ นิกายมหายาน ที่พุทธศาสนิกชนร่วมกันอุทิศส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นการสร้างความเอื้ออาทรต่อกันในชุมชน ถือว่าการทำบุญให้ทานนี้เป็นเครื่องลดความเห็นแก่ตัวลง โดยปกติจะจัดในช่วงเดือน 7 ของจีน ซึ่งเป็นช่วงที่เชื่อว่าประตูนรกจะเปิดเพื่อปล่อยสัตว์นรกชั่วคราว เมื่อวิญญาณที่ขึ้นมานี้หากมีญาติเซ่นไหว้ทำบุญอุทิศให้ วิญญาณนั้นก็สุขสบาย แต่วิญญาณที่ไม่มีญาติเซ่นไหว้ก็หิวโหย อดโซไปเป็นที่น่าเวทนานัก ดังนั้นในช่วงสาร์ทจีน ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ของจีน จึงมีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ และช่วงบ่ายบางบ้านจะมีการเซ่นไหว้ผีไม่มีญาติ หรือคนจีนเรียกว่า ไหว้ฮ่อ เฮีย ตี๋ ที่ลานหน้าบ้าน แต่พิธีทิ้งกระจาดจะทำตามวิหารหรือศาลเจ้าต่าง ๆ เพื่ออนุเคราะห์แก่วิญญาณไร้ญาติเหล่านั้นให้เป็นสุขขึ้นบ้าง ส่วนของที่นำมาเซ่นไหว้แล้วก็นำมาแจกจ่ายเป็นทางแก่ผู้คนที่ต้องการต่อไป เท่ากับว่าของที่ผู้บริจาคมาในงานนี้จะได้ประโยชน์ 2 ต่อ คือ นำของมาเซ่นไหว้ เมื่อไหว้เสร็จแล้ว ยังนำของไหว้ที่ไหว้เสร็จแล้วนั้นเป็นทานแก่คนเป็นอีกด้วย จึงนับว่าเป็นมหาทานด้วยเหตุผลดังนี้จึงถือว่าได้บุญมาก
โดยปกติ งานประเพณีทิ้งกระจาดนี้ จะเริ่มหลังวันสารทจีน 7 วัน วันเพ็ญเดือน 7 ตามปฏิทินจีน ประมาณปลายเดือนสิงหาคมหรือต้นเดือนกันยายน ตามปฏิทินไทย นอกจากช่วงเดือน 7 จีนแล้ว มีศาลเจ้าบางแห่งจัดงานทิ้งกระจาดในช่วงท้ายของเทศกาลกินเจ เป็นความเชื่อที่ว่าทำบุญในเทศกาลกินเจแล้ว ยังได้ทำทานในพิธีเทกระจาดหลังเทศกาลกินเจอีกด้วย
วิธีการเทกระจาดนั้น ในสมัยก่อนจะทำเป็นฉลากติดบนกระจาดสานจากไม้ไผ่เพื่อใช้ร่อนได้ เมื่อถึงเวลาก็จะทิ้งกระจาดเล็ก ๆ นี้ไปยังประชาชนที่มารอรับของ ใครเก็บกระจาดได้ก็จะนำไปขึ้นของ จึงเป็นที่มาของคำว่าทิ้งกระจาด ไม่ใช่เทกระจาดอย่างที่หลายคนใช้ผิดกัน
สำหรับในปีนี้ ศาลเจ้าพ่อเสือ ถนนตะนาว กรุงเทพมหานคร ได้มีการจัดงานเทกระจาดขึ้น ในวันที่ 15 พ.ย. 58 โดยวีอารดี ได้ร่วมทำบุญบริจาคข้าวสาร ของแห้ง เพื่อใช้แจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่ยากไร้ ในพิธีเทกระจาด ซึ่งพิธีดังกล่าวจะจัดขึ้นเพียงปีละ 1 ครั้ง
ขอขอบคุณ ที่มา : ข้อมุลเกี่ยวกับประเพณีทิ้งกระจาด
ดูประวัติและวิธีเดินทางไปทีศาลเจ้าพ่อเสือ