พระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธมฺโม) หรือหลวงพ่อจรัญ แห่งวัดอัมพวัน ได้ระบุถึงเหตุแห่งจิตไม่เป็นสมาธิไว้ 7 ประการ และ เหตุแห่งจิต ไม่สงบ 8 ประการ ซึ่งเหตุเหล่านี้ มีผลต่อการปฏิบัติกรรมฐาน
เหตุที่จิตไม่เป็นสมาธิมีอยู่ ๗ ประการ
๑. นั่งไม่ถูกวิธี
๒. จิตเป็นกังวล กังวลเรื่องงาน
๓. เหนื่อยมาก ไปทำงานมาเหนื่อยเหลือเกิน จิตท่านจะไม่เป็นสมาธิ แต่หายเหนื่อยเมื่อยล้าเมื่อไรก็ตั้งสติให้ได้แก่นได้
๔. ป่วย อาพาธหนัก จิตท่านจะไม่เป็นสมาธิท่านจะอุปาทานนึกถึงเวทนาปวดโน้น เมื่อยนี้ ปวดหนอ ปวดเรื่อยอะไรทำนองนี้ จิตท่านจะขาดสมาธิทันทีถ้าไม่ฝึกไม่ปฏิบัติ ท่านจะไม่มีสมาธิเลย
๕. ราคะเกิด ขณะนั้นจิตท่านจะหายไป สมาธิจะไม่เกิด
๖. โทสะเกิด ท่านไม่สามารถแก้ไขโทสะได้ ไม่สามารถจะตั้งสติไว้ได้ สมาธิหนีไปหมด ท่านจะทำอะไรเสีย ขาดสมาธิเพราะมีโทสะ โทสะสิงสถิตอยู่ในจิตใจของท่าน ปัญญาไม่เกิด แล้วท่านจะไม่มีสมาธิปฏิบัติอีก ๒๐ ปี ก็ไม่ได้ผล ก็ไม่ได้อานิสงส์แต่ประการใด
๗. อารมณ์มากระทบ อารมณ์เกิดกระทบ สัมผัสเกิดอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดสัมผัสมากระทบอารมณ์จึงเสีย จิตจึงไม่เป็นสมาธิ
ส่วนสาเหตุของจิตไม่สงบมีอยู่ ๘ ประการ
จิตไม่สงบทำอย่างไรก็ไม่สงบ ถ้าไม่ฝึกมาก่อน จิตไม่มีสมาธิจะไม่มีความสงบในครอบครัวเลย สาเหตุนั้นได้แก่
๑. มีไม่พอ ตะเกียกตะกายอยู่ร่ำไป ท่านจะไม่มีความสงบในครอบครัวเลย
๒.ใช้เวลาว่างมากเกินไป ไม่เอางานเอาการ พวกประเภทนี้พวกจิตว่าง มันว่างจิตมันก็ไหลไปสู่ที่ต่ำ ชีวิตจะไร้สาระไม่สงบ
๓. ถูกเบียดเบียนจิตใจ ครอบครัวไปอยู่ในหมู่บ้านที่เขาเบียดเบียนจิตใจ จิตท่านจะไม่สงบ
๔. อวัยวะไม่ตั้งอยู่ในความปกติ ปวดท้อง ปวดหัว ธาตุทั้ง ๔ ขาดไป อวัยวะไม่ปกติ ท่านจะขาดปัญญาจะสงบได้ไหม อวัยวะไม่ตั้งอยู่ในความสงบ ยกตัวอย่างให้เห็นอย่างง่ายๆ ก่อนสอนก็ต้องไปปัสสาวะก่อน ไปถ่ายอุจจาระเสียก่อนให้มันโล่งใจแล้วสอนต่อไปหากจิตไม่สงบแล้วท่านจะสอนเด็กไม่ได้ดีเลย
๕. โรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ท่านเป็นโรคสามวันดีสี่วันไข้ อยู่ในภาวะอันนั้นแน่นอนที่สุด
๖. ถูกสิ่งแวดล้อมดึงไปทางชั่ว เข้าไปอยู่ในกลุ่มคนเลว คนพาลสันดานบาป ดึงทุกวันดึงทุกเดือน ดึงทุกเวลา จะไม่เกิดมีความสงบเลย
๗. ครอบครัวไม่มีความสุข ทะเลาะกันทุกวันจิตท่านจะไม่สงบ
๘. มัวเมาในอบายมุข เล่นการพนันไม่พัก เที่ยวสรวลเสเฮฮาในสังคมตลอดรายการ จิตท่านจะไม่สงบเลย นี่แหละจำไว้ จิตไม่สงบมีอยู่ ๘ ประการ จิตไม่เป็นสมาธิมีอยู่ ๗ ประการ
พระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธมฺโม)