วัฏฏกปริตร ตำนาน คาถาป้องกันไฟไหม้ ของพระพุทธเจ้า

วัฏฏกปริตร คาถาสวดป้องกันอัคคีภัย วัฏฏกปริตร แปลว่า มนต์เครื่องป้องกันของพญานกคุ่ม คือ เมื่อครั้งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนกคุ่มทรงกระทำสัตยาธิษฐานห้ามไฟ
ตำนานวัฏฏกปริตร 
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จประทับอยู่ในแคว้นมคขธรัฐ วันหนึ่งเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในพระนครพร้อมด้วยภิกษุทั้งหลาย ครั้นเวลาปัจฉาภัต (ฉันเสร็จแล้ว) เสด็จดำเนินกลับผ่านป่าใหญ่ โดยพุทธประสงค์หาความสงัด เพื่อจะได้เร้นอยู่เป็นผาสุกวิหารตามสมณวิสัย
ขณะนั้น บังเอิญไฟไหม้ป่าลุกลามมาก เปลวไฟรุ่งเรือง ร้อนแรงทั้งลุกลามมาใกล้พระภิกษุทั้งหลาย ซึ่งขณะเดินติดตามพระผู้มีพระภาคเจ้ามาด้วย ภิกษุที่ขลาดต่อมรณภัยก็ไม่อาจสงบใจไว้ได้ ชวนเพื่อนหาอุบายป้องกันต่างๆเป็นต้นว่า เราควรจะจุดไฟขึ้น เพื่อต้อนรับไฟป่าแล้วไฟป่าจะถอยกลับไปไหม้ทางอื่น แต่ในที่สุดก็ถูกเพื่อนที่ฉลาด ใจหนักแน่น ตำหนิ ห้ามว่า “คุณพูดอะไร?” ปลาดจริง ทำไมจึงไม่มองดูพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นยอดของบุคคลในโลกนี้ และแม้ทั้งเทวโลกพระองค์เสด็จเป็นประธานอยู่ในหมู่เรา ไฉนพระองค์จะไม่ช่วยป้องกันปล่อยให้ไฟไหม้พวกเราเล่า ช่างคิดไปได้ จะให้ไฟห้ามไฟ นี่แสดงว่าท่านไม่รู้กำลังของพุทธานุภาพเลย ที่ถูกเราควรจะรีบคิดตามเข้าไปใกล้พระองค์ เพื่อจะได้ประจักษ์ชัดว่าพระองค์ทรงป้องกันพระองค์และพวกเราให้พ้นอัคคีภัยได้อย่างไร ว่าแล้วก็ชวนกันสาวท้าวรีบเดินติดตามขึ้นไปล้อมพระบรมศาสดาอย่างใกล้ชิด
ครั้งนั้น พระบรมศาสดาประทับยืนในท่ามกลางภิกษุสงฆ์บริษัทเพื่อเผชิญหน้ากับไฟป่ากำลังลุกลามมารอบๆแต่ด้วยพุทธานุภาพ ไฟป่าที่ลุกลามมาใกล้ได้หยุดลงในที่ ๑๖ กรีสะ โดยรอบ เหมือนคบหญ้าดับลงด้วยกำลังน้ำ ฉะนั้น (คำว่า กรีสะ นั้นเป็นมาตราวัดพื้นที่โบราณ ๑ กรีสะ เท่ากับเนื้อที่ ๖๒ ตารางเมตร)
เมื่อภิกษุเหล่านั้น ได้ประจักษ์พุทธานุภาพเป็นมหัศจรรย์ด้วยนัยน์ตาของตนเองอย่างนั้น ก็สรรเสริญพระพุทธานุภาพด้วยประการต่างๆพระบรมศาสดาจารย์จึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย สถานที่ตรงนี้ มิใช่เพียงแต่จะเป็นที่ป้องกันไฟในคราวนี้คราวเดียวเท่านั้น ภิกษุทั้งหลาย สถานที่ตรงนี้ มิใช่เพียงแต่จะเป็นที่ป้องกันไฟในคราวนี้คราวเดียวเท่านั้น ภิกษุทั้งหลาย สถานที่ตรงนี้ มิใช่เพียงแต่ จะเป็นที่ป้องกันไฟในคราวนี้คราวเดียวเท่านั้น ภิกษุทั้งหลาย สถานที่ตรงนั้นจะไม่ถูกไฟไหม้อีกตลอดเวลาอีกกับป์หนึ่ง ที่นี้ชื่อว่า กัปปัฏฐิติปาฏิหาริย์ ภิกษุทั้งหลาย ไฟป่าไหม้มาถึงสถานที่นี้แล้ว พับลงนั้น เป็นเพราะอานุภาพของเราในบัดนี้ ก็หาไม่ ที่ถูกนั้น ควรจะว่า เป็นเพราะอานุถาพของความสัตย์ของเราในกาลก่อนโน้น”
พญานกคุ่มโพธิสัตว์
ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จนั่งแล้ว ได้ทรงพระมหากรุณาตรัสเล่าถึงความเป็นมาของเรื่องนี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ผู้กำลังกระหายฟังอยู่รอบๆที่ประทับนั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย ครั้นนั้น พระโพธิสัตว์ได้บังเกิดเป็นพญานกคุ่ม มีร่างกายใหญ่ อยู่ในราวไพรแห่งมคธรัฐนี้ เมื่อพญานกคุ่มออกจากไข่แล้ว ยังนอนอยู่ในรัง ด้วยยังไม่มีกำลังที่จะไปหาอาหารกินเองได้ เพราะยังอ่อน ไม่มีกำลังที่จะกางปีกบินได้ และไม่มีกำลังที่จะยกเท้าเดินได้ จึงยังตกเป็นภาระในการเลี้ยงดูของมารดาบิดา อนึ่งตามปกติป่าที่พญานกคุ่มอยู่นี้ ไฟป่ามักจะลุกลามไหม้อยู่เป็นประจำ ดังนั้นวันหนึ่งได้เกิดไฟป่าไหม้ใหญ่โตเสียงสนั่นหวั่นไหว และลุกลามไหม้มาถึงสถานที่นั้นด้วย ฝุงนกทั้งหลายกลัวความตายส่งเสียงร้องอยู่อึ่งหมี ที่มีกำลังก็พากันบินหนีจากรังของตนๆ ไป แม้นกมารดาบิดาของพญานกคุ่มก็อยู่ในทำนองนั้น เมื่อมองไม่เห็นวิธีใดที่จะช่วยลูกได้ แม้จะรักลูกปานใดก็จำต้องทิ้งให้พญานกคุ่มนอนเผชิญกับไฟป่าแต่ตัวเดียว ตามวิสัยนกรีบบินหนีจากป่านั้นไปจนสุดกำลัง ที่ไฟจะไหม้ลุกลามสืบไปไม่ได้
พญานกคุ่มโพธิสัตว์ นอนอยู่ในรังตัวเดียว ชูคอขึ้นมองดูไฟป่ากำลังไหม้ลุกลามอย่างน่าสะพึงกลัวยิ่ง พลางคิดว่า “ถ้าเรามีกำลังปีกบินได้ เราคงบินหนีไปเช่นเดียวกับนกทั้งหลาย หรือว่า ถ้าเรามีกำลังขาเดินได้ เราคงต้องวิ่งหนีไฟ เช่นเดียวกับสัตว์ทั้งหลาย นี่มารดาบิดาก็หนีเราไปแล้ว คงมีเราผู้เดียว ขณะนี้ไม่มีสิ่งอื่นใดเป็นที่พึ่ง เป็นที่ป้องกันสำหรับเราแล้ว เมื่อมองไม่เห็นที่พึ่งในภายนอกแล้ว ทันใดนั้น พญานกคุ้มก็ระลึกถึงที่พึ่ง คือพระธรรมคุณ ที่พระสัพพัญญูพุทธเจ้าในอดีต ได้ทรงประกาศไว้ดีแล้ว ยังทรงคุณปรากฏอยู่ในโลกนี้ จึงได้ตั้งสัตยาธิษฐานขออานุภาพ พระธรรมคุณ บันดาลให้ไฟกลับ เพื่อให้ตนและลูกนกที่ยังเหลืออยู่ในป่านั้นได้ประสบความสวัสดี ตามพระบาลีว่า “ อตฺถิ โลเก สีลคุโณ สจฺจํ โสเจยฺยนุทยา ” เป็นอาทิ
ความว่า “แท้จริง ศีลคุณ สัจจะ ความหมดจดและความเอ็นดู ยังมีบริบูรณ์อยู่ในโลก ด้วยความสัตย์นั้น เราขอกระทำสัตยาธิษฐาน ซึ่งหาสิ่งอื่นใดเสมอมิได้ เราใคร่ครวญถึงกำลังพระธรรมแล้ว ระลึกถึงพระพุทธเจ้าในปางก่อน อาศัยกำลังแห่งความสัตย์นั้น จึงกระทำสัตยาธิษฐานว่า “เรามีปีก แต่ไม่มีขน บินไม่ได้ เรามีขา แต่ไม่มีแรงยก เดินไม่ได้ เรามีมารดาบิดา แต่ทั้งทั้งสองกลัวภัยหนีเราไปแล้ว ข้าแต่ไฟ ขอท่านจงกลับเสียเถิด ”
ด้วยอานุภาพของสัตยาธิษฐานที่พญานกคุ่มกระทำขึ้น ในทันใดไฟมีเปลวอันใหญ่ที่ลุกโรจน์โชตนาการ ได้เว้นสถานที่ของพญานกคุ่มไว้ประมาณ ๑๖ กรีสะ โดยรอบ แล้วดับลงเหมือนคบหญ้าที่ลุกโพลงอยู่ด้วยไฟ ถูกกดให้จมลงในน้ำ ฉะนั้น ภิกษุทั้งหลาย ด้วยอานุภาพของความสัตย์ ได้ช่วยป้องกันความวิบัติ ให้ความเกษมสำราญแก่พญานกคุ่ม ตลอดมวลสัตว์ทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในป่านั้น และถึงความเจริญสืบมาจนอายุขัย
เรื่องพญานกคุ่มนี้ เป็นต้นเหตุให้ชาวพุทธ สนใจเชื่อมั่นในอานุภาพของวัฎฎกปริตร ที่พระโบราณาจารย์นิยมเป็นมนต์สำหรับสวดในงานขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น ดังกล่าวแล้ว ถึงทำเป็นรูปยันต์นกคุ่มปิดบูชาไว้ตามบ้านเรือนก็มีไม่น้อย
พระคาถาวัฏฏกปริตร
อัตถิ โลเก สีละคุโณ สัจจัง โสเจยยะนุททะยา
เตนะ สัจเจนะ กาหามิ สัจจะกิริยะมะนุตตะรัง
อาวัชชิตวา ธัมมะพะลัง สะริตวา ปุพพะเก ชิเน
สัจจะพะละมะวัสสายะ สัจจะกิริยะมะกาสะหัง
สันติ ปักขา อะปัตตะนา สันติปาทา อะวัญจะนา
มาตา ปิตา จะ นิกขันตา ชาตะเวทะ ปะฏิกกะมะ
สะหะ สัจเจ กะเต มัยหัง มะหาปัชชะลิโต สิขี
วัชเชสิ โสฬะสะกะรีสานิ อุทะกัง ปัตวา ยะถา สิขี
สัจเจนะ เม สะโม นัตถิ เอสา เม สัจจะปาระมีติฯ