คาถาหัวใจเศรษฐี หลักธรรมที่ทำให้เป็นเศรษฐี ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ เป็นหลักธรรมในพุทธศาสนา คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน 4 อย่าง บ้างเรียกว่า หัวใจเศรษฐี อุ อา กะ สะ ประกอบไปด้วยหลักธรรม 4 ประการ ได้แก่
อุฏฐานสัมปทา ขยันหมั่นเพียร ถึงพร้อมด้วยความหมั่น เช่นขยันหมั่นเพียร
อารักขสัมปทา รู้จักรักษาทรัพย์ ถึงพร้อมด้วยการรักษาโภคทรัพย์
กัลยาณมิตตตา คบคนดี ไม่คบคบชั่ว
สมชีวิตา อยู่อย่างพอเพียง รู้ทางเจริญทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้สุรุ่ยสุร่ายฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก
ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ อาจเรียกเต็ม ๆ ว่า ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4 หมายถึง ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน หลักธรรมอันอำนวยประโยชน์สุขขั้นต้น เพื่อประโยชน์สุขสามัญที่มองเห็นกันในชาตินี้ ที่คนทั่วไปปรารถนา มี ทรัพย์ ยศ เกียรติ ไมตรี เป็นต้น อันจะสำเร็จด้วยธรรม 4 ประการ คือ
1. อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น เช่นขยันหมั่นเพียร เลี้ยงชีพด้วยการหมั่นประกอบการงาน เป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้านในการงานนั้น ประกอบด้วยปัญญาเครื่องสอดส่อง อันเป็นอุบายในการงานนั้น ให้สามารถทำได้สำเร็จ
2. อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษาโภคทรัพย์ (ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร โดยชอบธรรม) เขารักษาคุ้มครองโภคทรัพย์เหล่านั้นไว้ได้พร้อมมูล ไม่ให้ถูกลัก หรือทำลายไปโดยภัยต่างๆ
3. กัลยาณมิตตตา คบคนดี ไม่คบคบชั่ว อยู่อาศัยในบ้านหรือนิคมใด ย่อมดำรงตน เจรจา สนทนากับบุคคลในบ้านหรือนิคมนั้น ซึ่งเป็นผู้มีสมาจารบริสุทธิ์ ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา
4. สมชีวิตา อยู่อย่างพอเพียง รู้ทางเจริญทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้สุรุ่ยสุร่ายฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้