บทที่ ๑
ผมได้ยกคำบาลีพร้อมคำแปล มาลงให้อ่าน เพื่อจะได้ทราบว่าบทสวดพาหุงนั้น มีความหมายอย่างไร คราวนี้มาเล่าเรื่องราวประกอบ พร้อมข้อสังเกตเพิ่มเติมเท่าที่สติปัญญาอันน้อยของผมจะทำได้ ผิดถูกอย่างไรเราไม่ว่ากันอยู่แล้วมิใช่หรือ หรือ จะว่าก็ไม่เป็นไร
คาถาพาหุง บทที่ ๑ ความว่า
พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง
ครีเมขะลังอุทิตะโฆระสะเสนะมารัง
ทานาทิธัมมาะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ
พญามารเนรมิตแขนตั้งพัน ถืออาวุธ
ครบมือ ขี่ช้าง ครีเมขละ พร้อมด้วยเสนามาร
โห่ร้องก้องกึก พระจอมมุนีทรงเอาชนะได้
ด้วยธรรมวิธี มีทานบารมี เป็นต้น ด้วยเดช
แห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน
พากย์บาลีเฉพาะคำว่า ชะยะมังคะลานิ ฝ่ายพระธรรมยุตเปลี่ยนเป็น ชะยะมังคะลัคคัง
ให้เหตุผลว่าเพื่อให้ถูกไวยากรณ์ ผมว่าไม่จำเป็นต้องเคร่งครัดขนาดนั้น ก็ได้ท่านผู้แต่งเองก็ใช่ว่าจะไม่รู้ไวยากรณ์ ท่านคงจงใจใช้อย่างนี้มากกว่า
บางท่านก็สอนว่า ถ้าต้องการสวดให้ตัวเองให้เปลี่ยน ภะวะตุ เต เป็น ภะวะตุ เม นี่ก็ไม่จำเป็นต้อง “เห็นแก่ตัว” ปาน นั้นก็ได้ สวดให้คนอื่นตัวเองก็ได้อยู่ดี
เหตุการณ์แห่งชัยมงคลนี้เกิดขึ้นใต้ต้นโพธิ์ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา พระบรมโพธิสัตว์ประทับขัดสมาธิ ผินพระพักตร์สู่ทิศตะวันออกตั้ง พระวรกายตรง ดำรงพระสติมั่น เจริญอานาปานสติภาวนา (พจนานุกรม ให้เขียน อานาปาณสติ แต่วงการพระท่านใช้ อานาปานสติมาตลอด) ตั้งพระปณิธานแน่วแน่ จะพยายามเพื่อบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณให้จงได้ แม้ว่า เลือดเนื้อและโลหิตจะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนังหุ้มกระดูกก็ตามที ก็จะไม่ยอมลุกขึ้นเป็นอันขาด
เรียกว่าเอาชีวิตเข้าแลก ยอมตายใต้ต้นโพธิ์ ว่าอย่างนั้นเถอะ
บัดดล พญามารนาม วสวัตตี ก็ปรากฏตัว ให้สังเกตชื่อ “วสวัตตี” แปลว่า “ ผู้ยังบุคคลอื่นให้ตกอยู่ในอำนาจ ” แสดงว่ามารตัวนี้มิใช่กระจอก เป็นเทพ (ผู้เกเร) ครองสวรรค์ชั้นสูงสุด สวรรค์ชั้นนี้นามว่า ปรนิมมิตวสวัตตี แบ่งเป็นสองแดน แดนหนึ่งมีเทพนามวสวัตตีเทพครอง อีกแดนหนึ่งเป็นแดนมารมีพญามารวสวัตตีตนนี้แหละเป็นผู้ครอง
พญามารกลัวว่า พระโพธิสัตว์จะก้าวพ้นจากเงื้อมมือของตน จึงยกพลพหลพลโยธามาผจญ ตัวพญามารเองก็เนรมิตแขนพันแขนยังกะหนวดกุ้งถืออาวุธครบทุกมือ
ขี่พญาช้าง นามครีเมขละ นำลิ่วล้อหน้าตาน่าสะพรึงกลัวมาล้อมพระองค์ ออกปากขับไล่ให้พระโพธิสัตว์ลุกจากบัลลังก์ (ที่นั่ง) อ้างว่า บัลลังก์นี้เป็นของมัน
พระบรมโพธิสัตว์ตรัสว่า “ รัตนบัลลังก์ นี้เป็นของเรา พราหมณ์นามโสตถิยะ ให้หญ้ากุศะเรามา ๘ กำ เราเอามาลาดเป็นอาสนะ”
“บัลลังก์นี้เป็นของข้า” พญามารกล่าวเสียงดัง แล้วหันไปขอเสียง สนับสนุนจากบริวารว่า “จริงไหมวะ”
“แม่นแล้ว เจ้านาย บัลลังก์นี้เป็นของเจ้านาย” เสียงลิ่วล้อตะโกนตอบ
“เห็นไหมๆ ท่านลุกขึ้นเสียดีๆ ยกบัลลังก์ให้แก่ข้า อย่าให้ใช้กำลัง” มันขู่
เมื่อพระบรมพระโพธิสัตว์ยืนยันว่าบัลลังก์เป็นของพระองค์ มันจึงซักว่า “ท่านมีพยานไหมล่ะ”
พระองค์ทรงชี้ดรรชนีลงยังพื้นปฐพี ตรัสว่า “ขอให้วสุนธราเป็นพยาน” ทันใดนั้น นางวสุนธรา หรือ นางธรณีก็ปรากฏกายบีบมวยผมปล่อยกระแสธารไหลมาท่วมกองทัพพญามารจนพ่ายแพ้หนีไปในที่สุด
มีพระพุทธรูปปางหนึ่งสร้างเป็นอนุสรณ์เหตุการณ์ ครั้งนี้ เรียกว่า “ปางมารวิชัย”(อ่าน “มา-ระ-วิ-ไช”แปลว่า ชนะมาร ถ้าอ่าน “มาน-วิ-ไช” แปลว่า มารชนะ) ชาวบ้านเรียกว่า “ปางสะดุ้งมาร”
ที่มาของชื่อ “ปางสะดุ้งมาร” (ถ้าผมจำไม่ผิด) คือครั้งหนึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทอดพระเนตรเห็นพระพุทะรูปปางมารวิชัยองค์หนึ่ง พระพักตร์ไม่ค่อยสวย จึงรับสั่งว่า “องค์นี้ท่าจะสะดุ้งมาร”
หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ จำเอาไปเขียนบรรยายพระพุทะรูปองค์นี้ตั้งไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ใครเข้าไปชมก็ได้เห็นและจดจำกันไปจนแพร่หลาย
กว่าสมเด็จฯ จะทรงทราบภายหลังว่าที่พระองค์ตรัสเล่นๆ กลับมีผู้ถือเป็นจริงเป็นจังก็สายเสียแล้ว คนจำได้ติดปากแล้ว จึงปล่อยเลยตามเลย
กระทั่งผู้จัดทำพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถานยังบันทึกไว้เมื่อให้คำจำกัดความของคำมารวิชัยว่า “ผู้มีชัยแก่มาร คือพระพุทธเจ้า เรียกพระพุทธรูปปางชนะมารว่า พระมารวิชัย คือ พระนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ขวาพาดพระเพลา พระปางสะดุ้งมาร ก็เรียก”
ท่านอาจารย์ “ประสก” แห่งสยามรัฐร้องว่า ไม่เรียก ถ้าอยากเรียกให้เรียกว่า “ปางมารสะดุ้ง” อย่าเรียก “ปางสะดุ้งมาร”
ดร.ไซเลอร์ ผู้สนใจคัมภีร์พระพุทะศาสนาคนหนึ่งถามผมว่าฉากพระพุทะเจ้าผจญมาร ทำไมมีงูมากมาย จิตรกรรมฝาผนังหลายแห่งเขียนให้พญามารและเสนามารมีงูพันกายบ้าง เลื้อยออกจากปาก ออกจากจมูกบ้าง จากรูหูทั้งสองบ้าง ดูจะเป็น “กองทัพงู” มากกว่ากองทัพมาร ในคัมภีร์ศาสนามีพูดถึงงูบ้างไหม
นึกไม่ออกครับ เห็นแต่ในคัมภีร์รุ่นหลัง เช่น ปฐมสมโพธิสัมภารวิบาก และคัมภีร์ฝ่ายมหายาน คือ ลลิตวิสตระ (ลลิตพิสดาร) มีพูดถึงงูบ้าง แต่ในคัมภีร์พระไตรปิฎกมิได้พูดถึงงูบ้าง แต่ในคัมภีร์พระไตรปิฎกมิได้พูดไว้
ศาสตราจารย์เสฐียร พันธรังษี ราชบัณฑิต ผู้ล่วงลับ เคยบอกผมว่า งูเป็นสัญลักษณ์แทนกิเลส หรือความชั่วร้าย นี้เป็นแนวคิดที่ “สากล” ดังในคัมภีร์ไบเบิล ของคริสต์ซาตานที่มาหลอก อาดัม กับ อีฟใ ห้ละเมิดคำสั่งพระเจ้าก็มาในร่างงู งูกับมาร คือสิ่งเดียวกัน ภาพจิตรกรรมจึงวาดทั้งมารทั้งงู ก็เป็นคำพูดที่น่ารับฟัง
ถ้าดูบทสวดจริงๆ ก็น่าจะมี “งู” อยู่ด้วยเพียงแต่เราไม่แปลว่างู เท่านั้นเอง (ขอให้ผู้รู้บาลีช่วยกันดูตรงนี้หน่อยครับ)
อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง ที่แปลว่า “พร้อมทั้งเสนามารโห่ร้องก้องกึก” นั่นน่ะ ลองแยกศัพท์ดู อุทิตะ (เกิดขึ้น, โผล่ขึ้น),โฆระ (ย่อมาจาก โฆระวิสะ งูพิษร้าย), สะเสนะมารัง (พร้อมทั้งเสนามาร) ถ้าแยกอย่างนี้ก็จะได้คำแปลว่า “พร้อมทั้งเสนามารมีงูออกมาจากร่างกาย” แปลอย่างนี้ก็จะได้คำแปลว่า “พร้อมทั้งเสนามารมีงูออกมาจากร่างกาย” แปลอย่างนี้จะไม่ให้กองทัพมารกลายเป็นกองทัพงูได้อย่างไร ใช่ไหมครับ
มาร ในที่นี้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นมารจริงๆ ก็ได้ หากเป็นสัญลักษณ์แทนกิเลส (โลภ โกรธ หลง) พระโพธิสัตว์ผจญมาร ก็ คือ พระองค์ทรงพยายามเอาชนะกิเลสทั้งหลาย กว่าจะได้ชัยชนะก็เล่นเอาเหนื่อย ไม่แพ้รบทัพจับศึก ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต
นางธรณี เป็นสัญลักษณ์แทนบารมีที่ทรงบำเพ็ญมาแต่อดีตชาติ การอ้างนางธรณีเป็นพยานก็คือ ทรงรำลึกถึงความดีงามที่เคยทำมามากมายนั้นเอง เมื่อทำดีมามากปานฉะนี้แล้วจะยอมสยบแก่อำนาจฝ่ายต่ำ ก็ดุกระไรอยู่
ทุกครั้งที่กราบไหว้พระปางมารวิชัย ให้รำลึกเสมอว่า กิเลสอันร้ายกาจดุจพญามารและกองทัพอันมหึมา พระพุทธองค์ทรงเอาชนะได้เด็ดขาด เราผู้เป็น “ลูกพระตถาคต” ควรดำเนินตามรอยยุคลบาทของพระองค์ คือ พยายามต่อสู้กับอำนาจฝ่ายต่ำเต็มความสามารถแม้ชนะเป็นครั้งเป็นคราวก็ยังดี
ดีกว่าเป็นทาสของมารตลอดกาล
…………………………………………..
ข้อมูลประกอบ
พระพุทธรูปปางต่างๆ [ ๑ ] [ ๒ ]