พุทธวิธีระงับความเศร้าโศกจากการเสียบุคคลอันเป็นที่รัก

เมื่อต้องพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รัก ความโศกเศร้าย่อมเกิดขึ้น ยิ่งรักมาก ก็ยิ่งเศร้ามาก และความโศกเศร้านั้นย่อมทิ่มแทงหัวใจของผู้ที่เศร้าโศก ทำให้เกิดความเสียใจ ร้องไห้ คร่ำครวญ รำพึงรำพัน ทำให้เกิดทุกข์อันสาหัส ผู้ที่พลัดพรากจากคนหรือสิ่งของอันเป็นที่รัก มีโอกาส ละทิ้งการงาน กินไม่ได้ นอนไม่หลับ บางคนเสียใจจนเจ็บป่วย บางคนขาดสติจนเป็นบ้าไปก็มี
การปล่อยให้ความโศกเข้าครอบงำ ย่อมทำให้เกิดโทษมากมาย สำหรับ ชาวพุทธ ก็มีวิธีระงับ ความโศก โดยนำคำสอนที่พระพุทธเจ้า ทรงใช้สอน เตือนสติ หรือปลอบใจ ให้ผู้ทุกข์โศก คลากทุกข์ ซึ่งสามารถนำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ดังนี้
พุทธวิธีของพระพุทธเจ้าในการสอนพระกีสาโคตมีเถรี
พระกีสาโคตมีเถรี  เกิดในวรรณะแพศย์ มีชื่อเดิมว่า “โคตมี” แต่เพราะมีร่างกายผ่ายผอมหลายคนจึงตั้งชื่อให้ใหม่ว่า “กิสาโคตมี” แปลว่า “นางโคตมีผอม” ในชั้นเดิมนั้นนางกิสาโคตมี เคยมีอดีตเป็นถึงธิดาของมหาเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถี แต่ต่อมาเกิดประสบวิกฤตการณ์บางอย่างทำให้กลายมาเป็นคนจน อย่างไรก็ตามท่านยังถือว่ามีบุญอยู่มากเพราะท่านได้แต่งงานกับบุตรของมหาเศรษฐีอีกคนหนึ่งแต่ก็ไม่วายที่จะถูกคนเหล่านั้นเหยียดหยามว่ามาจากตระกูลคนยากจน ต่อมานางจึงให้กำเนิดบุตรแต่บุตรนั้นก็ได้ตายจากไป เมื่ออายุเพียง 3 ขวบ การตายของบุตรจึงทำให้นางตกอยู่ในความทุกข์อย่างหนัก ถึงขนาดอุ้มศพลูกไปทุกหนทุกแห่ง จนกระทั่งมาพบพระพุทธเจ้าขณะประทับอยู่ ณ วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี
พระพุทธองค์ทรงแนะอุบายคลายความทุกข์โดยการให้นางไปเสาะหาเมล็ดพันธุ์ผักกาดจากบ้านที่ไม่เคยมีคนตาย ปรากฏว่านางต้องผิดหว้งเพราะทุกบ้านนั้นก็ล้วนแต่มีคนตายทั้งสิ้น ในที่สุดนางจึงได้ข้อสรุปว่า ความตายเป็นเรื่องธรรมดาของคนหรือสิ่งมีชีวิต ไม่มีใครเกิดมาแล้วไม่ตาย การตายของบุตรตนจึงเป็นเรื่องธรรมดาเรื่องหนึ่งของชีวิต ครั้นคิดได้แล้วนางจึงสำเร็จเป็นพระโสดาบันบุคคลทั้งที่ยังไม่ได้บวช
เมื่อเป็นพระโสดาบันแล้วพระพุทธองค์ทรงมอบหมายให้ภิกษุและภิกษุณีทำการอุปสมบท เมื่อทำการอุปสมบทแล้วท่านก็บำเพ็ญจิตภาวนา โดยพิจารณาจากเปลวเทียนในอุโบสถจนได้บรรลุอรหัตผล ท่านได้รับการยกย่องจากองค์พระศาสดาว่าเป็นเอตทัคคะทางด้าน ทรงจีวรเศร้าหมอง ยิ่งกว่าภิกษุณีรูปใดในพุทธศาสนา
การพิจารณาโลกธรรมทั้ง 8 เพื่อให้คลายทุกข์จากการเสียบุคคลหรือสิ่งของอันเป็นที่รัก
โลกธรรม 8 ประการ เป็นสัจธรรมที่ทุกคนจะต้องพานพบอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะมีฐานะมีตำแหน่งใหญ่โตเพียงใดก็ตาม    เมื่อเราผิดหวังสูญเสียบุคคลหรือสิ่งของอันเป็นที่รัก พบเจอเหตุการณ์ที่ไม่สมหวังในชีวิตหน้าที่การงาน เราก็ควรจะนำเอาความเสียใจนั้นมาเป็นยารักษาใจของเรา ตามหลักของ “โลกธรรม 8” คือสภาพที่ทุกคนในโลกนี้จะต้องพบเจอ และ โลกธรรม 8 นั้นคือ

  1. การมีลาภ คือ การได้มาซึ่งทรัพย์สิน เงิน ทอง โภชนะ และปัจจัยทั้งหลาย ตามสิ่งที่ตนปราถนา ทั้งที่ได้มาด้วยความสุจริตหรือทุจริต เช่น การถูกหวยรางวัลที่ 1
  2. การมียศ คือ การได้มาซึ่งสมมติสัจจะ คือ นามที่เขาตั้งให้ เพื่อเป็นนามกำหนดในบทบาทหน้าที่ของตนในสังคม เช่น เป็นตำรวจ เป็นครู เป็นนายอำเภอ เป็นต้น
  3. การมีคำสรรเสริญ/ยินยอ คือ คำกล่าวที่เขาพูดถึงตนด้วยความบริสุทธิ์ใจในการเชิดชูต่อความดีหรือสิ่งที่ตนได้กระทำเพื่อผู้อื่น สิ่งนี้เรียกว่า คำสรรเสริญ ส่วนคำกล่าวที่เขาพูดถึงตนด้วยความไม่บริสุทธิ์ใจ หรือการแกล้งกล่าว เพียงเพื่อหวังประโยชน์แก่เขา สิ่งนี้ เรียกว่า การยินยอ
  4. การมีความสุข คือ ความอิ่มเอิบใจในสิ่งที่ได้มาตามความปรารถนาทั้ง 3 ประการ ข้างต้น นอกจากนี้ ความสุขที่มีนั้น ยังครอบคลุมถึงความสุขทางใจในด้านอื่นๆ เช่น ความสุขจากการยินดีในความรัก ความสุขจากความสำเร็จในการงาน การเล่าเรียน เป็นต้น ไม่นับรวมกับความสุขหรือความยินดีในธรรม ซึ่งความสุขเหล่านี้ จัดเป็นความสุขที่ไม่ยั่งยืนเหมือนสิ่งที่ได้มาทั้ง 3 ประการ นั้น

โลกธรรม 4 ประการแรกนี้ จัดเป็นสิ่งที่น่าปรารถนาหรือน่ายินดี แต่ผู้ที่ได้มาพึงมีอนิจจังเป็นธรรมคู่ในใจ คือ ให้รู้ว่าสิ่งเหล่านั้นมีความไม่เที่ยง มีเพิ่ม ย่อมมีลดหรือหมดหายไป ไม่สามารถคงอยู่กับเราได้ตลอดเวลา

  1. การเสื่อมในลาภ คือ ความไม่เที่ยง และไม่คงอยู่ของลาภที่ได้มาทั้งปวง ลาภเหล่านั้น เป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ ย่อมมีวันลดน้อยหรือหมดไปจากตน เช่น เงิน ทอง หรือ ทรัพย์สินต่างๆ
  2. การเสื่อมในยศ คือ ความไม่เที่ยง และไม่คงอยู่ของยศถาบรรดาศักดิ์ที่ได้มาทั้งปวง ยศเหล่านั้น เป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ เป็นนามที่เพียงผู้อื่นเขาตั้งให้แทนตัวตนของเรา และยศเหล่านี้ย่อมหมดไปตามวาระการงานหรือหมดไปตามกายของตน
  3. การมีคำนินทา คือ คำกล่าวที่ผู้อื่นกล่าวถึงตนในทางเสื่อมเสีย คำเหล่านี้ย่อมไม่เป็นที่ปรารถนาของทุกคน แต่เป็นธรรมดาที่หากมีผู้รักย่อมมีผู้เกลียด และนินทาว่าร้าย เป็นของคู่กันกับคำสรรเสริญ/ยินยอ
  4. การมีความทุกข์ คือ ความหม่นหมองหรือขมขื่นใจที่เกิดจากการเสื่อมลาภเสื่อมยศ การถูกกล่าวนินทา นอกจากนั้น ความทุกข์ยังรวมถึงความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากด้านต่างๆ เช่น ความทุกข์จากคำด่าทอ ความทุกข์จากความผิดหวังในความรัก และความทุกข์จากการสูญเสียบุคคล หรือสิ่งของอันเป็นที่รัก เป็นต้น

โลกธรรม 4 ประการหลังนี้ จัดเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาของทุก ๆ คน ผู้ที่ต้องเผชิญกับความเสื่อมทั้ง 4 นี้ พึงควรมีอนัตตา กล่าวคือ ให้เข้าใจว่า ทุกสิ่งล้วนไม่มีตัวตน คือ ย่อมมีวันเสื่อมสลายไปตามอนิจจัง สิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้น ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมหรือกำหนดให้คงอยู่ได้ดั่งใจต้องการ
โลกธรรมทั้ง 8 ประการนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่เกิดกับทุกคนบนโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเกิดลาภยศ คำสรรเสริญหรือยินยอ และการเกิดความสุข ก็จะทำให้เกิดความยินดี  แต่ทั้ง 4 ประการนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่า ไม่มีความเที่ยงแท้ คือ ไม่มีสิ่งใดที่ยั่งยืนหรือคงอยู่ตลอดกาลเวลา จึงต้องมีวันที่เสื่อมหายหรือหมดไปในอนาคตภายหน้า กล้าวคือ เมื่อมีลาภก็มีการเสื่อมลาภ มีมียศก็มีการเสื่อมในยศ เมื่อมีคำสรรเสริญ ก็มีคำนินทา และสุดท้าย คือ เมื่อมีความสุขก็มีความทุกข์ นั่นเอง
การพิจารณาอภิณหปัจจเวกขณ์ ๕ คือ ความจริงที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ทุกคนพิจารณาเนืองๆ มี ๕ ประการ ซึ่งปรากฎใน ปัญจอภิณหปัจจเวกขณคาถา ในบทสวดมนต์ทำวัตรเย็นที่ว่า
ชราธัมโมมหิ  ชะรัง อะนะติโต     เรามีความแก่เป็นธรรมดา  จะล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้
พะยาธิธัมโมมหิ  พะยาธิง  อะนะตีโต     เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา  จะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้
มะระณะธัมโมมหิ  มะระณัง  อะนะตีโต     เรามีความตายเป็นธรรมดา  จะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้
สัพเพหิ  เม  ปิเยหิ  มะนาเปหิ  นานาภาโว  วินาภาโว    เราจักพลัดพรากจากของที่รัก ของชอบใจทั้งหลาย
กัมมัสสะโกมหิ  กัมมะทายาโท     เรามีกรรมเป็นของๆตน  เราจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
กัมมะโยนิ   กัมมะพันธุ     เรามีกรรมเป็นแดนเกิด  เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธ์
กัมมะปะฏิสะระโน   ยัง กัมมัง กะริสสามิ     เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย  เราทำกรรมอันใดไว้
กัลยาณัง วา ปาปะกัง วา     เป็นกรรมดีก็ตาม  เป็นกรรมชั่วก็ตาม
ตัสสะ  ทายาโท  ภะวิสสามิ     เราจักต้องเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้น
เอวัง  อัมเหหิ  อะภิณหัง  ปัจจะเวกขิตัพพัง     เราทั้งหลายพึงพิจารณาเนือง ๆ อย่างนี้แล.
ข้อที่ควรพิจารณาเนืองๆ ๕ อย่างนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อละสาเหตุต่างๆ มี ความมัวเมา เป็นต้น  ที่ทำให้สัตว์ทั้งหลายตกอยู่ในความประมาท และประพฤติทุจริตทางไตรทวาร กล่าวคือ :-
      ข้อ ๑ เป็นเหตุละหรือบรรเทาความเมาในความเป็นหนุ่มสาวหรือความเยาว์วัย
      ข้อ ๒ เป็นเหตุละหรือบรรเทาความเมาในความไม่มีโรค คือ ความแข็งแรงมีสุขภาพดี
      ข้อ ๓ เป็นเหตุละหรือบรรเทาความเมาในชีวิต
      ข้อ ๔ เป็นเหตุละหรือบรรเทาความยึดติดผูกพันในของรักทั้งหลาย
      ข้อ ๕ เป็นเหตุละหรือบรรเทาความทุจริตต่างๆ โดยตรง
เมื่อพิจารณาขยายวงออกไป เห็นว่ามิใช่ตนผู้เดียวที่ต้องเป็นอย่างนี้ แต่เป็นคติธรรมดาของสัตว์ทั้งปวงที่จะต้องเป็นไป เมื่อพิจารณาเห็นอย่างนี้เสมอๆ มรรคก็จะเกิดขึ้น เมื่อเจริญมรรคนั้นมากเข้า ก็จะละสังโยชน์ทั้งหลาย สิ้นอนุสัยได้
พระคาถาดังกล่าว  ควรพิจารณาอยู่เนืองๆเป็นอเนก  เพื่อให้เกิดนิพพิทา  ไม่ใช่เฉพาะเวลาสวดมนต์แต่อย่างเดียว จึงจักบังเกิดผลยิ่ง เป็นเครื่องรู้ เครื่องระลึก เครื่องเตือนสติ  ให้ประกอบกรรมดี และไม่ใช่เพื่อการพิรี้พิไรรำพันโอดครวญ  หรือไปกังวลถึงกรรมในอดีตที่ผ่านไปแล้ว
เรื่องราวที่นำมาเสนอนี้ ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาเรื่อง  พระกีสาโคตมีเถรีก็ดี การพิจารณาโลกธรรม 8 หรือการพิจารณาอภิณหปัจจเวกขณ์ ๕ ก็ดี จะช่วยให้ยอมรับความจริง และเข้าใจถึงธรรมชาติของชีวิต ในเรื่องการสูญเสียบุคคลหรือสิ่งของอันเป็นที่รัก เมื่อคิดได้ดังนั้น  จิตก็จะมีภูมิคุ้มกันต่อความโศกเศร้ามากขึ้น ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้ทุกคน ไม่ว่า บุรุษ สตรี ชาวบ้านหรือนักบวช ให้พิจารณาบ่อย ๆ ผู้ที่ยอมรับความจริง เหล่านี้ จึงจะมีความทุกข์โศกลดน้อย มีสติมากขึ้น เมื่อเผชิญกับเรื่องที่น่าทุกข์โศก เหล่านั้น