พระสยามเทวาธิราช

 พระสยามเทวาธิราชเป็นเทพยดาศักดิ์สิทธิ์ที่อภิบาลรักษาประเทศไทย

องค์พระเทวรูปหล่อด้วยทองคำ ขนาดสูง ๘ นิ้วฟุต ประทับยืน ทรงเครื่องกษัตราธิราช พระหัตถ์ขวาทรงถือพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้น พระดรรชนีจีบเสมอพระอุระสถิตอยู่ในเรือนแก้ว ทำด้วยไม้จันทน์แบบวิมานเก๋งจีน มีคำจารึกเป็นภาษาจีน ที่ผนังเบื้องหลังเก๋งจีน 暹國顯靈神位敬奉 แปลความว่า ที่สิงสถิตแห่งพระสยามเทวาธิราช

เรือนแก้วเก๋งจีนประดิษฐานในพระวิมานไม้แกะสลักลงรักปิดทอง ซึ่งตั้งอยู่บนลับแลกลางพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง

 ตำนานการสร้างพระสยามเทวาธิราช

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้น โดยที่มีพระราชดำริว่า ตั้งแต่ไทยได้ตั้งราชธานีอันมีกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ มาตามลำดับนั้น ไทยได้สูญเสียเอกราชเพียง สองครั้ง ครั้งแรกพุทธศักราช ๒๑๑๒ ไทยตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกู้เอกราชกลับคืนมาได้ภายในเวลา ๑๕ ปี และครั้งที่สอง พุทธศักราช ๒๓๑๐ ไทยต้องสูญเสียเอกราชให้แก่พม่าอีก

ในครั้งนี้พม่าทำลายเผาผลาญบ้านเมืองอย่างย่อยยับมิได้คิดคำนึงจะทำนุบำรุงไทยไว้เป็นเมืองขึ้น ราษฎรแตกแยกกันเป็นก๊กเป็นเหล่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงคุมไพร่พลและนายกองต่าง ๆ ถอยลงมาอยู่ ณ เมืองจันทบุรี และได้ทรงกู้เอกราชคืนมาได้ภายในเวลา ๘ เดือน

ในต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ประเทศมหาอำนาจทางตะวันตกเปิดประตูค้าขายกับตะวันออก ประเทศเล็กๆ และเมืองข้างเคียงไม่รู้ทันเหตุการณ์ภายนอกว่าประเทศทางตะวันตกมีอำนาจทางปืนเรือ จึงพากันไม่ยอมทำสัญญาด้วยจนเกิดเป็นสงครามขึ้น และต่อมาประเทศพม่าซึ่งเป็นศัตรูคู่อริของไทยก็ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศอังกฤษ

 ส่วนเมืองไทยนั้น มหาอำนาจให้ประเทศอังกฤษเป็นผู้เปิดประตูการค้ากับไทย ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ประเทศอังกฤษกับไทยก็เคยมีไมตรีกันมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา แต่ต่อมาบ้านเมืองกำลังมีศึกสงคราม ชาวต่างประเทศไปมาค้าขายกันไม่สะดวกจึงได้ยุติการติดต่อกัน ดังนั้นเมื่อเสร็จศึกกับพม่าในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแล้ว ถึงรัชกาลที่ ๒ อังกฤษได้ส่งมิสเตอร์จอห์น ครอฟอร์ด เข้ามาทำสัญญาการค้ากับไทย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้เสด็จออกรับราชทูตอังกฤษ ณ ท้องพระโรงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เมื่อพุทธศักราช ๒๓๖๕

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ ประเทศอังกฤษเกิดรบพุ่งกับพม่าเป็นครั้งแรก ครั้นชนะพม่าได้แล้วจึงส่งกัปตันแฮนรี่ เบอร์เนย์ เข้ามาทำสัญญาการค้ากับไทย เมื่อพุทธศักราช ๒๓๖๘ และพุทธศักราช ๒๓๘๑ อังกฤษได้ส่งมิสเตอร์ริดซัน เข้ามาทำสัญญาซื้อช้าง และครั้งสุดท้ายอังกฤษได้ส่งเซอร์เจมส์ บรู๊ค เข้ามาขอทำสัญญาอีก เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๙๓ ปีรุ่งขึ้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต

     รวมราชทูตอังกฤษที่เข้ามาทำสัญญากับไทย ๕ ครั้ง แต่ละครั้งเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อาทิเช่น เรื่องผ่านแดนไทยกับพม่า สัญญาซื้อขายช้าง ม้า และแลกเปลี่ยนสินค้าบางอย่าง ไม่ได้ทำสัญญากับเมืองไทยโดยตรงกับเมืองอื่น ๆ และแล้วในที่สุด พบรายงานของเซอร์เจมส์ บรู๊ค ทูตอังกฤษผู้ซึ่งเข้ามาเป็นทูตสุดท้าย ในรัชกาลที่ ๓ เขียนบันทึกไว้ว่า “พระเจ้าแผ่นดินกำลังเสด็จอยู่บนแท่นสวรรคต และพระองค์ใหม่ที่จะเสวยราชย์ก็มีหวังจะพูดกันได้เรียบร้อย ฉะนั้นจึงขอรอการใช้กำลังบังคับไว้ก่อน”

     ตามรายงานที่เขียนไว้นี้เห็นชัดได้ว่า ประเทศอังกฤษเตรียมจะใช้กำลังกับไทยอยู่แล้ว แต่มีการสวรรคตและเปลี่ยนแผ่นดินเสียก่อน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงทราบเหตุการณ์ภายนอกประเทศดีอยู่แล้ว เพราะทรงมีเวลาศึกษาเพียงพอเนื่องจากทรงผนวชเป็นพระภิกษุนานถึง ๒๗ ปี ครั้นพอเสวยราชสมบัติได้ ๔ ปี ประเทศอังกฤษได้ส่ง เซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง เป็นราชทูตแทนสมเด็จ พระนางเจ้าวิกตอเรีย มาเฝ้าฯ ถวายพระราชสาสน์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบและตระหนักข้อไขอันนี้ดี จึงทรงเปิดรับอังกฤษในฐานะมิตร

และต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งราชทูตไทย อันมี พระมนตรีสุริยวงศ์ กับ หม่อมราโชทัย (ท้าวกระต่าย) ไปเจริญพระราชสาส์นเป็นการตอบแทน และเป็นผลให้ประเทศไทย เราได้รอดพ้นภัยมาเป็นประเทศเดียวในทางตะวันออกนี้

 เมื่อเหตุการณ์เรียบร้อยแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระราชดำริว่า เมืองไทยนี้มีเหตุการณ์หวิด ๆ จะต้องเสียอิสรภาพมาหลายต่อหลายครั้งแล้ว แต่เผอิญมีเหตุให้รอดพ้นภัยมาได้เสมอ ชะรอยจะมีเทพยดาองค์ใดองค์หนึ่งที่คอยพิทักษ์รักษาไว้ จึงเห็นสมควรจะทำรูปเทพองค์นั้นขึ้นถวายสักการะบูชา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ (พระเจ้าหลานเธอ ในรัชกาลที่ ๑) นายช่างสิบหมู่ ทรงปั้นรูปเทพองค์นั้นขึ้น แล้วหล่อด้วยทองทั้งองค์ ทรงถวายพระนามว่า   “พระสยามเทวาธิราช” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสังเวยพระสยามเทวาธิราชทุกวัน ด้วยนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์นัก กาลต่อมาหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว สำนักพระราชวังถูกตัดงบประมาณ  จึงยังคงมีเครื่องสังเวยถวายพระสยามเทวาธิราชเฉพาะวันอังคารกับวันเสาร์ และในเวลาปีใหม่ทาง จันทรคติไทย ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ จะมีพระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช และมีละครรำของกรมศิลปากรจัดมารำบวงสรวงด้วย

ที่มา

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *