พระเขี้ยวแก้ว หรือ พระทาฐธาตุ คือพระทันตธาตุส่วนที่เป็นเขี้ยวของพระโคตมพุทธเจ้า ซึ่งตามลักขณสูตรในพระไตรปิฎกภาษาบาลี ได้กล่าวถึงมหาปุริสลักขณะ 32 ประการ มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึง ลักษณะของพระทาฐะหรือเขี้ยวของบุคคลผู้มีลักษณะแห่งมหาบุรุษว่า “เขี้ยวพระทนต์ทั้งสี่งามบริสุทธิ์” ข้อมูลนี้จึงทำให้เชื่อกันว่า พระเขี้ยวแก้วมีทั้งหมด 4 องค์
พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนขวา ท้าวสักกะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระจุฬามณีเจดีย์ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำขวา ประดิษฐานที่แคว้นกลิงคะ แล้วจึงถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ ลังกาทวีป (วัดพระเขี้ยวแก้ว ประเทศศรีลังกา ในปัจจุบัน)
พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย ประดิษฐาน ณ แคว้นคันธาระ แล้วเชื่อว่าถูกอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่เมืองฉางอัน ประเทศจีน (ซีอาน) โดยพระภิกษุฟาเหียนเมื่อคราวจาริกไปสืบพระศาสนายังอินเดีย ปัจจุบัน พระเขี้ยวแก้วองค์นี้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระมหาเจดีย์ ณ วัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง
พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำซ้าย ประดิษฐานในภพพญานาค
เชื่อกันว่า บนโลกมนุษย์ของเรานี้ มีพระเขี้ยวแก้วขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่ 2 องค์
นอกจากนี้ พระเขี้ยวแก้วยังจัดเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่ไม่แยกกระจัดกระจาย องค์มีลักษณะแข็งแกร่งรวมกันแน่น พุทธศาสนิกชนจึงมีความศรัทธาเลื่อมใสในองค์พระเขี้ยวแก้วเป็นอย่างมาก
รัฐบาลไทย และรัฐบาลจีน ได้เห็นชอบร่วมกันในการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากวัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน มาประดิษฐาน ที่บริเวณมณฑลพิธี ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร เป็นการชั่วคราว เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และในโอกาสการครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – จีน ในปี 2568
ระหว่างวันที่ 4 ธันวาคม 2567 – 14 กุมภาพันธ์ 2568 รวมเป็นเวลา 73 วัน และจะอัญเชิญกลับในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568
สำหรับพระเขี้ยวแก้วที่ประเทศจีน เรียกว่า “พระทันตธาตุฟาเหียน ” เพราะพระภิกษุฟาเหียนเป็นผู้อัญเชิญมา
พระเขี้ยวแก้วองค์นี้ แต่เดิมประดิษฐานอยู่ที่อาณาจักรอูไดยานา ปัจจุบันอยู่ในเขตของประเทศปากีสถาน หลังจากนั้นก็ย้ายมาอยู่ที่แคว้นโคตัน ในคริสต์ศตวรรษ ที่ 5 พระภิกษุฟาเหียนอัญเชิญเอามาจากเมืองโคตัน ประดิษฐานไว้ที่นานกิง เมืองหลวงของราชวงศ์จี๋
หลังจากนั้น ประเทศจีนก็รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสมัยราชวงศ์ซุ่ย พระเขี้ยวแก้วจึงย้ายไปประดิษฐานที่เมืองฉางอัน ต่อมาจีนรบกันเอง ช่วงนี้มีถึง 5 ราชวงศ์ ในแผ่นดินเดียว ก็ย้ายไปย้ายมา สุดท้ายไปประดิษฐานอยู่ในเจดีย์เจาเซียนบนภูเขาเมืองปักกิ่งในสมัยราชวงศ์เหลียว หลังจากนั้นก็เงียบหายไป นานถึง 830 ปี
จนถึงปี พ.ศ. 2443 ยุคสมัยราชวงศ์ชิง เจดีย์เจาเซียนถูกปืนใหญ่ของฝ่ายพันธมิตรชาติตะวันตกทำลาย พระภิกษุที่อยู่ภายในวัดได้มาทำความสะอาดจึงได้พบพระเขี้ยวแก้วอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งบรรจุอยู่ในหีบศิลาภายในห้องใต้ดินขององค์เจดีย์อีกครั้ง
ภายในหีบศิลาพบตลับไม้กฤษณาอีกชั้นหนึ่ง บนตลับนั้นระบุว่า ถูกนำมายัง ณ สถานที่นี้ในปี พ.ศ. 1506 โดยพระภิกษุชื่อซ่านฮุย ในยุคราชวงศ์ซ่ง
ด้านข้างและด้านในกล่องนั้น เป็นลายมือของหลวงจีนซ่านฮุย แล้วในตลับนั้นก็พบพระเขี้ยวแก้ว อยู่ด้านบน
ในปี พ.ศ.2498 ทางพุทธสมาคมแห่งประเทศจีน จึงได้อัญเชิญออกมาให้ประชาชนสักการชั่วคราวที่ วัดกวงจี่ รอเวลาสร้างสร้างเจดีย์ที่วัดหลิงกวงเสร็จ จนถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2507 จึงมีพิธีบรรจุพระบรมธาตุพระเขี้ยวแก้วในพระมหาเจดีย์ไว้เป็นการถาวร