แนวคิด สายเหยี่ยว และสายพิราบ เป็นภาษาที่ใช้กันมากในช่วงทศวรรษ 1960 หรือยุคสงครามเย็น
ในความเป็นจริงแล้ว คำว่าสายเหยี่ยว หรือภาษาเดิมคือ “เหยี่ยวสงคราม” (war hawk) เป็นคำที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1792 และใช้ในความหมายของคนที่สนับสนุนนโยบายการสงครามของรัฐในยามสันติ ต่อมาในปี 1798 โทมัส เจฟเฟอร์สัน ใช้คำนี้อีกครั้งหมายถึงพวกที่ชอบสนับสนุนให้รัฐบาลประกาศสงครามกับฝ่ายตรงข้าม
ในขณะที่พิราบนั้น เป็นคำเก่าแก่ที่ปรากฏในไบเบิลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของน้ำท่วมโลกและโนอาร์ปล่อยนกพิราบจากเรือของเขา ต่อมานกพิราบบินกลับมาพร้อมช่อมะกอก ทำให้ “นกพิราบและช่อมะกอก” ถูกถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ เพราะนกพิราบบินกลับเมื่อน้ำที่ท่วมโลกได้ลดลง
โดยทั่วไปแล้วคนที่ถูกเรียกว่าสายเหยี่ยว หมายถึง กลุ่มคนที่สนับสนุนสงคราม
ส่วนคนที่เป็นสายพิราบ หมายถึง พวกที่ต่อต้านสงคราม
หรือในบริบทของนโยบายทางการเงิน สายเหยี่ยวหมายถึง ผู้ที่สนับสนุนการใช้นโยบายทางการเงินอย่างเข้มงวด ในขณะที่สายพิราบหมายถึง กลุ่มที่ต้องการให้ใช้นโยบายในแบบผ่อนปรน รวมถึงการปรับใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเป็นปัจจัยในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
อย่างไรก็ตาม คำเปรียบเทียบทั้งสองนี้ใช้อย่างมากในบริบทของนโยบายต่างประเทศ
สายเหยี่ยว คือ กลุ่มที่เป็นพวกสายแข็ง (hard-line) ที่เชื่อในเรื่องของการทำสงคราม สนับสนุนการแทรกแซงด้วยกำลัง (คือเป็นพวก interventionist) หรือเป็นคนที่เชื่อว่าการใช้กำลังจะเป็นหนทางที่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา และเป็นเครื่องมือให้รัฐใช้จัดการกับฝ่ายตรงข้ามได้ดีที่สุด
ส่วนสายพิราบ คือ กลุ่มคนที่เชื่อในเรื่องของการเจรจาและการใช้มาตรการทางการทูต หรืออีกนัยหนึ่งคือเชื่อว่าการใช้กำลังไม่ใช่หนทางที่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างประเทศ หรือเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มที่ไม่สนับสนุนการแทรกแซงด้วยกำลัง คือเป็นพวก non-interventionist
โดยสรุปแล้ว เราอาจกล่าวได้ว่า สายเหยี่ยวคือคนที่เชื่อในการใช้กำลังในการแก้ปัญหา ส่วนพิราบคือคนที่ไม่สนับสนุนการใช้กำลัง
ขอบคุณ ที่มา