นวราตรี เป็นเทศกาล ในศาสนาฮินดูรายปีที่เฉลิมฉลองเทิดเกียรติ แด่พระแม่ทุรคา ปางหนึ่งของพระแม่อุมาเทวี คำว่า นวราตรี มาจากภาษาสันสกฤต คำว่า นว แปลว่าเก้า และ ราตรี แปลว่าค่ำคืน จึงแปลรวมกันว่า เก้าคืน กินระยะเวลาเก้าคืน ในเดือนอัศวินตามปฏิทินฮินดู
ตามปรัมปราวิทยาฮินดู เชื่อว่าเก้าปางอวตาร คือพระทุรคาทั้งเก้าระยะ ในระหว่างการรบกับเจ้าแห่งอสูร มหิษาสูร และวันที่สิบจะฉลองเป็นวันวิชัยทัศมี ( วันแห่งชัยชนะ) การเฉลิมฉลองนี้ถือเป็นเทศกาลที่สำคัญที่สุดเทศกาลหนึ่งของชาวฮินดู
ที่มา
นวราตรีมีความหมายเดียวกับทุรคาบูชา เฉลิมฉลองชัยชนะของพระทุรคาเหนืออสูรควาย มหิษาสูร เพื่อกู้คืนมาซึ่งธรรมะ
พระแม่ทุรคา เป็นปางอวตารอีกภาคหนึ่งของพระแม่ปารวตีหรือพระแม่อุมาเทวี ที่อวตารมาเพื่อกำจัด มหิษาอสูร โดยพระศิวะมหาเทพเป็นผู้กอบพีธีให้กำเนิดพระนางจากธาตุทั้งห้าของจักรวาล คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และโลหะ
พระแม่ทุรคา มักแสดงในรูปสตรีรูปงามขี่สิงโต พระโฉมงดงาม พระเกศายาวสลวย ผิวกายสีทองแดงส่องประกาย มี 3 พระเนตร ดวงหนึ่งอยู่บนพระนลาฏ สวมอาภรณ์สีแดง เป็นปางที่มีภาระหน้าที่ ความเก่งกาจและแข็งแกร่งของสตรีมี 10-18พระกร ถืออาวุธครบมือ โดยมีอาวุธประจำกายคือ กงจักร, ดาบ, ศร, สังข์ และคฑา
ส่วน มหิษาสูร เป็นอสูรที่มีอิทธิฤทธิ์มาก และบำเพ็ญตบะจนได้รับพรจากพระพรหมให้เป็นอมตะ รบชนะเหนือสามโลก ไม่มีผู้ใดฆ่าได้ ยกเว้น หญิงสาวที่ไม่ได้เกิดเองตามธรรมชาติและต้องเป็นศูนย์กลางของจักรวาล เหตุนี้ทำให้มหาเทพทั้งสาม (พระพรหม พระศิวะ พระวิษณุ) ไม่สามารถกำจัดอสูรร้ายได้ด้วยตัวเอง แต่ในที่สุดก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับพระแม่ทุรคา
เชื่อกันว่า เมื่อบูชาพระแม่ทุรคาอย่างสม่ำเสมอ พระองค์จะประทานพรด้านความกล้าหาญ ชนะศัตรูรอบทิศ การมีบริวาร มีความยุติธรรม ตลอดจนการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง