ท่านปลัดจ่าง นิสัยสัตย์(เจ้าพ่อเขาใหญ่).
.
เมื่ออดีตปี 2467 ครั้งที่ราษฎรบ้านท่าชัย และบ้านท่าด่าน ต.หินตั้ง อ.วังกระโจม(ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น เมือง) จ.นครนายก ได้พากันขึ้นไปถากถางป่าปลูกข้าว ปลูกพริก ไม้ผล และปลูกบ้านเรือนอยู่บนยอดเขาใหญ่ประมาณ 30 หลังคาเรือน จนกลายเป็นชุมชนเล็กๆและต่อมาทางราชการในสมัยนั้นได้ยกฐานะชุมชนดังกล่าวขึ้นเป็นตำบลเขาใหญ่ ขึ้นตรงกับอำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก
.
และในยุคนั้นท่านปลัดจ่าง นิสัยสัตย์ ชาวบ้านวัดเขานางบวช ต.บ้านบุ่ง(ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น สาริกา) อ.วังกระโจม (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น เมือง) จ.นครนายก ซึ่งมีตำแหน่งเป็นปลัดประจำกองทัพ ทำหน้าที่ดูแลหัวเมืองด้านทิศบูรพา ได้แก่ปราจีนบุรี นครนายก(ท่านปลัดจ่างเคยผ่านสมรภูมิศึกสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านมาอย่างโชกโชน โดยท่านมีบุคลิกที่สง่างาม สมชายชาตินักรบเมื่อเสร็จศึกสงครามทุกครั้ง ท่านมักออกเยี่ยมเยือนนักรบไทยและลูกหลานของท่านประจำ)
.
ต่อมาวันหนึ่งท่านทราบข่าวว่าลูกน้องของท่านไปตั้งตัวเป็นโจรอยู่บนเขาใหญ่ และยังทราบว่าลูกน้องของท่านถากถางป่าบนเขาใหญ่จนเตียนโล่งท่านก็เกิดความเสียใจอย่างยิ่ง ต่อมาเมื่อท่านปลัดจ่างได้เกษียณอายุราชการแต่ด้วยความสามารถในการปราบปรามโจรผู้ร้ายในอดีตเป็นที่เลืองลือและรู้จักภูมิประเทศในแถบนี้เป็นอย่างดีแถมมีความชำนาญในการใช้ปืนบนหลังม้าอีกด้วย
ทางการจึงขอความร่วมมือให้ท่านช่วยเหลือราชการบ้านเมืองอีกครั้ง ในการทลายซ่องโจรบนเขาใหญ่ ซึ่งมีอยู่ 5 ก๊กสำคัญๆด้วยกัน ได้แก่ ก๊กเสือจัน ก๊กเสือไทร ก๊กเสือบุญมี ก๊กเสือสำอาง และก๊กเสือสองพี่น้อง (คือเสือเย็น กับเสือหล้า)
.
ในที่สุดท่านปลัดจ่างก็กลับมาทำงานช่วยเหลือทางราชการอีกครั้ง โดยเดินทางไปพบและเจรจากับลูกน้องเก่าในอดีตที่เป็นโจรบนเขาใหญ่ แต่กลับมีกลุ่มโจรอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ยอมเชื่อท่าน ต่อมาจึงได้นัดกลุ่มโจรดังกล่าวเพื่อเจรจา ณ ป่าหญ้าคาใกล้หนองขิง(ลาน ฮ.เก่า ทอ.เขาใหญ่) แต่ในที่สุดไม่สามารถตกลงกันได้จึงเกิดการต่อสู้กันขึ้น
ปรากฏว่าหัวหน้าโจรกลุ่มนั้นถูกท่านปลัดจ่างจับตายส่วนกลุ่มโจรที่เหลือก็ยอมแพ้แก่ท่านและต่อมาท่านได้ชักชวนชาวบ้านที่บุกรุกพื้นที่บนเขาใหญ่แห่งนี้กลับลงมาใช้ชีวิตอยู่พื้นราบตามปกติในเวลาต่อมา
.
ท่านปลัดจ่าง เป็นผู้มีวิธีการที่แยบยล จนทำให้เสือก๊กต่างๆยอมรับและนับถือพร้อมปฏิบัติตามจนต่อมาเลิกราเป็นโจรกลับตัวกลับใจเริ่มต้นชีวิตใหม่ เหมือนดั่งหัวหน้าโจรก๊กสองพี่น้อง เมื่อได้พบหน้าท่านครั้งแรกเท่านั้นก็ลงจากหลังม้ามากราบท่านปลัดจ่าง แล้วก็ขอพูดคุยกับท่านจนในที่สุดหัวหน้าโจรสองพี่น้องก็ยอมบวชเรียนและต่อมาก็มีอาชีพเป็นครูตราบจนสิ้นชีวิตที่บ้านหนองเคี่ยม
นับว่าท่านปลัดจ่างเป็นบุคคลที่มีคุณค่าต่อสังคมเป็นอย่างยิ่ง
.
ในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ท่านได้รับแต่งตั้งจากทางราชการให้เป็นผู้เก็บค่ารัชชูปกรณ์ (ส่วย) ในพื้นที่จังหวัดนครนายก เนื่องจากขณะนั้นเมืองนครนายกการเก็บค่าส่วยส่งหลวงน้อยลงทุกปี เพื่อให้การเก็บส่วยได้ผลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทางราชการจึงสรรหาบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ตรงนี้แทนคนเก่า ด้วยเหตุนี้ท่านปลัดจ่าง จึงได้รับเลือกให้ทำหน้าที่ดังกล่าวเพราะท่านเป็นผู้มีฝีมือ มีความซื่อสัตย์ มีจิตใจโอบอ้อมอารี กอร์ปกับท่านเชี่ยวชาญในการรบเคยออกปฏิบัติหน้าที่เก็บส่วยให้กับทางราชการในอดีต โดยท่านปลัดจ่างจะใช้ม้าเป็นพาหนะ แต่งกายด้วยชุดสีแดง มีปืนและดาบเป็นอาวุธประจำกาย
.
จนหลายปีต่อมาท่านปลัดจ่างได้สิ้นชีวิตลงด้วยพิษไข้ป่า ด้วยวัย 75 ปี ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันตั้งศาลเพียงตาไว้ที่ใต้ต้นกระบกใหญ่บนเชิงเขาอยู่ใกล้กับโรงเรียนวัดหนองเคี่ยม จังหวัดนครนายก โดยชาวบ้านต่างเรียกขานศาลนี้ว่า “ศาลเจ้าพ่อปลัดจ่าง”
ในเวลาต่อมาหลังจากรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีการจัดตั้งผืนป่าเขาใหญ่เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้เกิดนิมิตถึงเจ้าผู้คุ้มครองสรรพสัตว์และผืนป่าเขาใหญ่ จึงได้มีการจัดตั้งศาลเจ้าพ่อขึ้นที่บริเวณกิโลเมตรที่ 23 (ถนนธนะรัชต์) และได้อัญเชิญดวงวิญญาณของท่านมาสิงสถิตพร้อมขนานนามว่า “ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่” ถือว่าท่านเป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่อีกด้วย ในทุกปีของวันที่ 26 มกราคม จะมีการบวงสรวงรำลึกถึงพระคุณท่านปลัดจ่างเสมอๆที่ศาลแห่งนี้