วิชาขี่มะพร้าวแทนเรือ
เรื่องนี้เป็นวิชาหนึ่งซึ่งกรมหลวงชุมพรฯ ได้เรียนจากหลวงพ่อศุขวัดปากคลองมะขามเฒ่า เมื่อเรียนเสร็จแล้วจึงได้ทดลองทำที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า โดยเหตุที่กระทำในตอนกลางวันจึงมีผู้ยืนดูอยู่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำ รวมทั้งผู้เล่าซึ่งกำลังบวชเป็นพระอยู่
เรื่องนี้ผู้เล่าคือนายเนตร แพ่งกลิ่น อายุ ๘๕ ปี ( เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ ) บ้านใต้วัดพิกุลงาม ตำบลธรรมามูล อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท ผู้เล่าบวชอยู่กับหลวงพ่อศุขที่วัดปากคลองวัดมะขามเฒ่า ๗ พรรษา ทำหน้าที่ “เลขานุการ” ของหลวงพ่อศุขสืบแทนพระพี่ชายที่สึกไป เคยร่วมไปที่วังกรมหลวงชุมพรฯ กับหลวงพ่อศุข รวม ๖ ครั้ง ผู้เล่า ๆ ให้ฟังเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พศ. ๒๕๒๒ และได้สอบถามเพิ่มเติมอีกครั้งเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้ความดังต่อไปนี้
วันหนึ่งเวลาเช้า พระเนตรออกบิณฑบาตไปทางทิศใต้ของวัดปากคลองมะขามเฒ่า มีพระบิณฑบาตทั้งหมด ๒๙ องค์ พระเนตรเป็นองค์นำในตอนขากลับจากบิณฑบาตเข้าวัดปากคลองมะขามเฒ่า เมื่อเดินผ่านถึงต้นโพธิ์หน้าวัด พบกรมหลวงชุมพรฯ พร้อมทั้งฝ่ายในรอใส่บาตรอยู่ ( ปรกติเมื่อกรมหลวงชุมพรฯ มาที่วัดปากคลองวัดมะขามเฒ่า ท่านจะใส่บาตรทุกวัน ) เมื่อพระเนตรเดินนำพระเดินผ่านมา ท่านพูดว่า “นิมนต์ค่ะ” พระเนตรไม่ยอมหยุดรับเพราะกรมหลวงชุมพรฯ ไม่ถอดรองเท้า จึงนำพระเดินผ่านไป
ท่านก็พูดขึ้นใหม่ว่า “นิมนต์ค่ะ” เป็นครั้งที่สอง พระเนตรหยุดแต่ไม่ยอมรับ แล้วเดินต่อไปจนเกือบจะถึงกุฏิอยู่แล้ว กรมหลวงชุมพรฯ ตามไปแล้วพูดข้าว่า “ นิมนต์ค่ะ” เป็นครั้งที่ ๓ พร้อมทั้งถอดรองเท้า พระเนตรจึงยอมให้กรมหลวงชุมพรฯ ใส่บาตร นายเนตรบอกว่า “ พระสมัยก่อนเขาถือกันยังงั้น ”
เมื่อเช้าวันนั้น กรมหลวงชุมพรฯ ได้ขึ้นไปคุยกับหลวงพ่อศุข ถามหลวงพ่อศุขว่าพระเนตรเป็นใคร ในขณะฉันอาหารเช้าอยู่นั้น พระเนตรได้ยินกรมหลวงชุมพรฯ คุยกับหลวงพ่อศุขว่า กรมหลวงชุมพรฯ สามารถไปกรุงเทพฯ และกลับมาวัดปากคลองมะขามเฒ่าได้ภายในเวลาเพียง ๑ ชั่วโมง ๑๕ นาทีเท่านั้น เข้าใจว่าเช้าวันนั้นกรมหลวงชุมพรฯ คงจะเรียนวิชากับหลวงพ่อศุข ตอนบ่ายคงจะทดลองทำ
เวลาบ่าย ๓ โมงเย็นวันนั้น กรมหลวงชุมพรฯ หยิบเอาลูกมะพร้าวซึ่งผูกติดกันอยู่ ๒ ลูก ดึงออกเสียลูกหนึ่ง คงถือไว้เพียงลูกเดียว หลังจากบริกรรมอยู่ครู่หนึ่งแล้วก็โยนลูกมะพร้าวลงน้ำ กรมหลวงชุมพรฯ ขึ้นเหยียบบนลูกมะพร้าวย่อตัวลงในท่านั่งคุกเข่า มะพร้าวลูกนั้นก็วิ่งไปข้างหน้าเหมือนเรือ เมื่อไปถึงฝั่งตรงข้ามแล้ว พวกฝ่ายในจึงขึ้นเรือตามไป เมื่อตอนขากลับจากฝั่งตรงข้ามนั้น ก่อนที่จะขึ้นที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า กรมหลวงชุมพรฯ ท่านขี่มะพร้าวฉวัดเฉวียนอยู่ที่หน้าวัดหลายรอบ มีประชาชนออกมาดูทั้งสองฝั่งแม่น้ำเป็นจำนวนมาก รวมทั้งผู้เล่าเองด้วย
นายเนตรผู้นี้หลวงพ่อศุขได้สักสังวาลรอบอกให้พร้อมกับกรมหลวงชุมพรฯ สักครั้งนั้นเพียง ๒ คนเท่านั้น นายเนตรเล่าว่า มักจะไปวังกรมหลวงชุมพรฯ ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๑๒ ซึ่งจะมีสวดมนต์ใช้พระ ๗-๙ รูป แต่ถ้าเดือนเพ็ญ ๑๒ ปีใดตรงกับวันเสาร์ท่านจะไม่ไป เพราะหลวงพ่อศุขท่านจะทำตะกรุดใต้น้ำ โดยจะเอาแผ่นตะกั่วหรือทองแดงใส่ลงในฝาบาตร ถือลงไปในน้ำทั้งเทียนและเหล็กจาน มีคนคอยเก็บตะกรุดที่จะลอยขึ้นมา เมื่อได้ลงตะกรุดหมดแล้ว จะเห็นเหล็กจานลอยขึ้นมา ถ้าเทียนยังไม่ลอยขึ้นแสดงว่าหลวงพ่อศุขจะไปต่อ อาจเข้าถ้ำจระเข้หรือขึ้นทางหลังวัดด้านแม่น้ำท่าจีน
หลวงพ่อศุขเคยจะให้พระเนตรไปเป็นสมภารวัดท่านจั่น พระเนตรไม่ยอมเป็น บอกว่าถ้าให้เป็นจะศึก พระเนตรสึกและแต่งงานเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ เมื่อแต่งงานหลวงพ่อศุขปลุกเสกเข็มเย็บผ้าให้ ๓ เล่ม เป็นเข็มต้องสู้ขนาดค่อนข้างยาว เข็มเล่มหนึ่งสำหรับให้ภรรยาไว้ใช้เย็บเสื้อผ้าให้สามี อีกสองเล่มสำหรับภรรยาไว้ใช้เอง
ขอบคุณที่มา
จากหนังสือประวัติพระครูวิมลคุณากร ( ศุข ) วัดปากคลองมะขามเฒ่า ตำบลมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท
ผู้บันทึก นายแพทย์สำนวน ปาลวัฒน์วิไชย