การมียักษ์ อยู่ที่วัดสำคัญ ๆ ของไทย เสมือมเป็นนายทวารบาล คอยทำหน้าที่พิทักษ์รักษาปูชนียวัตถุ ปูชนียสถาน สำคัญประจำวัด สำหรับยักษ์วัดพระแก้ว ยักษ์ที่เป็นนายทวารเฝ้าประตูนี้ มีอยู่ทั้งหมด 12 ตน แต่ละตนล้วนเป็นยักษ์ที่มีอิทธิฤทธิ์ อิทธิพล เป็นผู้ครองนคร เป็นลูกหลวง รัชทายาทเกือบทั้งสิ้น และเป็นที่ควรสังเกตว่ายักษ์เหล่านี้ ล้วนเป็นวงศาคณาญาติ หรือสัมพันธมิตรของทศกัณฐ์ทั้งหมด
โดยเจตนารมณ์ของผู้ดำริริเริ่มปั้นยักษ์เฝ้าประตูให้เป็นพวกเดียวกันนี้ ก็เพราะการเฝ้าพิทักษ์รักษาปูชนียวัตถุ ปูชนียสถาน
อันสำคัญอย่างยิ่งนั้น ถ้าผู้เฝ้าเป็นคนละพวก คนละหมู่ ก็ยากในการดูแลรักษา และยุ่งยากในการปกครอง ฉะนั้น จึงจัดให้เป็นยักษ์พวกเดียวกัน โดยมีทศกัณฐ์เป็นประธาน และแกนกลางสำคัญ
ยักษ์ทั้ง 12 ตน ที่ยืนเฝ้าประตูหรือทวารต่างๆ ในวัดพระแก้วนั้น ล้วนแต่เป็นยักษ์ชั้นกษัตริย์ และเป็นคู่ต่อสู้ของพระรามทั้งสิ้น ซึ่งยักษ์เหล่านี้สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พร้อมกับยักษ์วัดแจ้ง หรือวัดอรุณราชวราราม
ยักษ์ตนที่ 1 : ทศกัณฐ์ (กายสีเขียว) มีหน้า ๑๐ หน้า ครองกรุงลงกา
ยักษ์ตนที่ 2 : สหัสเดชะ (กายสีเขียว) ครองเมืองปางตาล
ยักษ์ตนที่ 3 : ไมยราพณ์ (กายสีม่วงอ่อน) ครองเมืองบาดาล
ยักษ์ตนที่ 4 : วิรุฬจำบัง (กายสีเขียวเจือดำ) เป็นบุตรพญาทูษณ์ ครองเมืองจารึก
ยักษ์ตนที่ 5 : สุริยาภพ (มีกายสีแดง) เป็นโอรสของสหายทศกัณฐ์ เฝ้าด้านหน้าปราสาทพระเทพบิดร
ยักษ์ตนที่ 6 : อินทรชิต (มีกายสีเขียว) เป็นบุตรทศกัณฐ์กับนางมณโฑ เฝ้าด้านหน้าปราสาทพระเทพบิดร
ยักษ์ตนที่ 7 : มังกรกัณฐ์ (กายสีเขียวอ่อน) เป็นบุตรพญาขร ครองเมืองโรมคัล อยู่ทางด้านหน้าพระอุโบสถ
ยักษ์ตนที่ 8 : วิรุฬหก (กายสีขาบ หรือน้ำเงินเข้ม) ครองเมือง มหาอันธการนคร อยู่ทางด้านหน้าพระอุโบสถ
ยักษ์ตนที่ 9 : ทศคีรีธร (กายสีน้ำตาล) เป็นยักษ์ฝาแฝด ลูกของทศกัณฐ์ กับนางช้าง ยักษ์2ตนนี้จึงมีปลายจมูกเป็นงวงช้างเล็กๆ
ยักษ์ตนที่ 10 : ทศคีรีวัน (กายสีเขียวแก่) เป็นยักษ์ฝาแฝด ลูกของทศกัณฐ์ กับนางช้าง ยักษ์2ตนนี้จึงมีปลายจมูกเป็นงวงช้างเล็กๆ
ยักษ์ตนที่ 11 : จักรวรรดิ (กายสีขาว) เป็นเพื่อนสนิทกับทศกัณฐ์ ครองกรุงมลิวันอยู่ด้านหน้าทางเข้า
ยักษ์ตนที่ 12 : อัศกรรณมารา (กายสีม่วงเข้ม) ครองเมืองดุรัม