วันลอยกระทง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เป็นวันที่มีการลอยกระทง เพื่อบูชาขอขมาพระแม่คงคา
สำหรับตำนานวันลอยกระทงนั้นมีหลายตำนาน ได้แก่
ตำนานลอยกระทงเพื่อบูชาพระพุทธบาท
ตำนานวันลอยกระทงที่เกี่ยวข้องกับการบูชาพญานาคและรอยพระพุทธบาทนั้น มาจากพุทธชาดก เรื่องการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
ในขณะที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ์ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา นางสุชาดาผู้เป็นอุบาสิกาได้ถวายข้าวมธุปายาสด้วยถาดทอง วันหนึ่งขณะที่พระพุทธเจ้าเสวยหมดแล้วจึงนำถาดมาลอยน้ำ โดยตั้งสัตยาธิษฐานว่าหากวันใดจะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าได้ ขอให้ถาดนี้ลอยทวนน้ำ ปรากฏว่าถาดนี้ลอยทวนน้ำไปจนถึงสะดือทะเล จมถูกหางของพญานาคผู้รักษาบาดาล
พญานาคจึงขึ้นมาหาพระพุทธเจ้าและขอให้พระองค์ทรงประทับรอยพระบาทไว้บนฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เพื่อให้พวกตนได้ขึ้นมาถวายสักการะ
หลังจากนั้นสาวใช้ของนางสุชาดาได้พบเห็นจึงไปบอกนางสุชาดา ทุกปีนางสุชาดาก็นำถาดใส่ดอกไม้ เครื่องหอมมาสักการะพระพุทธบาท
ตำนานลอยกระทงเพื่อบูชาพระอุปคุตต์
พระเจ้าอโศกมหาราชทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้โปรดให้สร้างพระสถูปเจดีย์และพุทธวิหารขึ้นทั่วชมพูทวีป มหาวิหารที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ อโศการาม ซึ่งตั้งอยู่ในเขตแคว้นมคธ หลังจากที่สร้างพระสถูปเจดีย์ถึง 84,000 องค์สำเร็จแล้ว พระเจ้าอโศกทรงมีพระราชประสงค์จะนำพระบรมสารีริกธาตุของสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปบรรจุในในพระสถูปต่าง ๆ และบรรจุในพระมหาสถูปองค์ใหญ่ ประดิษฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาให้ปาฎลีบุตร และยังต้องการให้มีการเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่เป็นเวลา 7 ปี 7 เดือน 7 วัน
แต่ด้วยเกรงว่าพญามารจะมาทำลายพิธีฉลอง มีเพียงพระอุปคุตต์ที่ไปจำศีลอยู่ในสะดือทะเลเพียงท่านเดียวเท่านั้น ที่จะสามารถปราบพญามารได้ เมื่อพระอุปคุตต์ปราบพญามารจนสำนึกตัวหันมายึดเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งแล้ว พระอุปคุตต์จึงลงไปจำศีลอยู่ในสะดือทะเลตามเดิม
ต่อมาจึงได้มีการลอยกระทงเพื่อบูชาพระอุปคุตต์ สำหรับพระอุปคุตต์ คนไทยจะเรียกได้อีกชื่อว่า พระบัวเข็ม
ตำนานลอยกระทงเพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากเทวโลก
เล่ากันว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ได้เสด็จออกบวชจนได้บรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วได้เสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนาธรรมโปรดพระพุทธมารดา จากนั้นพระองค์ได้เสด็จกลับลงสู่โลกมนุษย์ ในการเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ครั้งนี้ เหล่าทวยเทพและประชาชนทั้งหลาย ได้พร้อมใจกันทำการสักการบูชาด้วยทิพย์บุปผามาลัย การลอยกระทงตามตำนานนี้ จึงเป็นการรับเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากดาวดึงส์พิภพ
พิธีกรรมลอยประทีปเพื่อบูชาเทพเจ้าตามความเชื่อของพรามหณ์
เล่ากันว่าการลอยประทีปเพื่อเป็นการบูชาเทพเจ้า 3 พระองค์ ได้แก่ พระอิศวร, พระนารายณ์ และพระพรหม ซึ่งตามคัมภีร์ “ทีปาวลี” จะลอยประทีปก่อนการลอยกระทง
ต่อมาเมื่อชาวพุทธเห็นเป็นเรื่องดีจึงนำมาปรับใช้กับการบูชารอยพระพุทธบาทเพื่อรับเสด็จพระพุทธเจ้าในเดือนสิบสอง
ตำนานลอยกระทงตามความเชื่อล้านนา
เล่ากันว่า ครั้งหนึ่งได้มีโรคอหิวาต์ระบาดที่อาณาจักรหริภุญชัย ส่งผลให้ชาวบ้านล้มตายเป็นจำนวนมาก แต่คนที่รอดก็ได้อพยพไปอยู่ที่เมืองสะเทิมและหงสาวดี เป็นเวลา 6 ปี ผู้ที่อพยพกลับจึงจัดธูปเทียนสักการะล่องไปตามลำน้ำเพื่อรำลึกถึงญาติที่อยู่ในเมืองหงสาวดี เรียกกระทงนี้ว่า สะเพา (สะ-เปา) กระทำในวันเพ็ญเดือนสิบสอง
ตำนานลอยกระทงตามความเชื่อของจีน
เล่ากันว่าในอดีตทางตอนเหนือของจีนเกิดน้ำท่วมจนชาวบ้านอพยพไม่ทัน ตายกันเป็นแสน ๆ คน เมื่อญาติหาศพไม่พบจึงเกิดเป็นประเพณีที่ชาวบ้านนำอาหารใส่กระทงลอยเพื่อเซ่นไหว้วิญญาณผู้ที่เสียชีวิต พิธีกรรมนี้มักทำในตอนกลางคืน เพราะเชื่อว่าผีชอบความสงบ ในภาษาจีนเรียกการลอยกระทงเซ่นวิญญาณนี้ว่า “ปั่งจุ๊ยเต็ง” ตรงกับประเพณีลอยโคมของไทย