หลวงพ่อวัดบ้านแหลม

หลวงพ่อบ้านแหลม เป็นพระพุทธรูปยืน ปางอุ้มบาตร สูงประมาณ 2 เมตร 80 เซนติเมตร หล่อด้วยทองเหลืองปิดทอง ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ วัดเพชรสมุทรวรวิหารหรือวัดบ้านแหลม

ตามตำนานเล่ากัน หลวงพ่อบ้านแหลม มีความสัมพันธ์กับตำนานหลวงพ่อโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา แต่มีเพิ่มเติมจำนวนพระพุทธรูปจาก 3 องค์ เป็น 5 องค์ กล่าวคือ มีเรื่องเล่ากันมาว่า มีพระพุทธรูป 5 องค์ ลอยน้ำมาจากเมืองเหนือ เมื่อมาถึงภาคกลางก็ได้แยกย้ายกันไปประดิษฐานอยู่ตามจังหวัดต่างๆ รวม 5 จังหวัด

องค์แรก ลอยมาตามแม่น้ำบางปะกงและได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ชื่อว่า หลวงพ่อโสธร
องค์ที่สอง ลอยมาตามแม่น้ำนครชัยศรีและได้ไปประดิษฐานที่วัดไร่ขิง เมืองนครชัยศรี(อำเภอสามพราน) จังหวัดนครปฐม ได้ชื่อว่า หลวงพ่อวัดไร่ขิง
องค์ที่สาม ลอยมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาและได้ไปประดิษฐานที่วัดพลับพลาชัยชนะสงคราม อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ได้ชื่อว่า หลวงพ่อโต
องค์ที่สี่ ลอยมาตามแม่น้ำแม่กลองและได้ไปประดิษฐานที่วัดเพชรสมุทรวรวิหาร เมืองแม่กลอง ปัจจุบันคือจังหวัดสมุทรสงคราม ได้ชื่อว่า หลวงพ่อบ้านแหลม
องค์ที่ห้า ลอยมาตามแม่น้ำเพชรบุรีและได้ไปประดิษฐานที่วัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี ได้ชื่อว่า หลวงพ่อเขาตะเครา

มีตำนานอีกเรื่องหนึ่ง กล่าวว่า ชาวบ้านแหลมที่มาตั้งรกรากอยู่ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2307 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวประมง วันหนึ่งได้มีชาวประมงไปลากอวนหาปลาที่ปากแม่น้ำแม่กลอง และอวนได้ติดพระพุทธรูปขึ้นมาสององค์องค์หนึ่งเป็น พระพุทธรูปยืน ปางอุ้มบาตร อีกองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปนั่ง จึงอาราธนาพระพุทธรูปยืนมาประดิษฐานที่ วัดศรีจำปา ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ของเมืองแม่กลอง ส่วนพระพุทธรูปนั่งได้มอบให้ญาติพี่น้องนำไปประดิษฐานที่ วัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี

วัดศรีจำปา นี้ต่อมาได้ชื่อว่าวัดบ้านแหลม ซึ่งต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชั้นวรวิหาร และได้รับพระราชทานนามว่า วัดเพชรสมุทรวรวิหาร บาตรแก้วสีน้ำเงินที่เห็นอยู่ปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าบรมเธอกรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช ได้ถวายไว้เนื่องจากบาตรเดิมอาจจมหายอยู่ในน้ำก่อนที่ชาวประมงจะได้จากทะเลปากอ่าวแม่กลอง

องค์หลวงพ่อบ้านแหลม เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองเหลือง ปางอุ้มบาตร ที่งดงาม

ความสูงจากปลายนิ้ว พระบาทถึงยอดพระเกศามาลา 167 ซ.ม. คือขนาดเท่าคนธรรมดา พุทธลักษณะผสมกลมกลืนกันระหว่างอยุธยาตอนต้นกับสุโขทัยตอนปลาย พระพักตร์งามเหมือนพักตร์เทพบุตร พระเกศามาลาเป็นเปลวเพลิงแบบพระพุทธรูปสุโขทัย สังฆาฏิเส้นเล็กพาดยาวมาถึงพระชงฆ์ จีวรทำแผ่เป็นแผ่นแผงอยู่เบื้องหลังมีแฉกมุมแบบอยุธยา ทรวดทรงเหมาะเจาะกะทัดรัดงดงามประดุจหนุ่มน้อยเทพบุตร

กรมศิลปากรได้จดทะเบียนไว้เป็นโบราณวัตถุแห่งชาติ ตั้งแต่ พ.ศ. 2492

คาถาบูชาหลวงพ่อวัดบ้านแหลม จ.สมุทรสงคราม
ตั้งนะโม 3 จบ

สะทา วะชิระสะมุททะวะระวิหาเร
ปะติฏฐิตัง นะระเทเวหิ ปูชิตัง ปัตตะหัตถัง
พุทธะรูปัง อะหัง วันทามิ ทูระโต. สาธุ

หรือ

“นะ มะ ระ อะ นะ เท วะ อะ”

ขอบคุณที่มา : สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสมุทรสงคราม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *