พระพุทธรูปปางพยาบาลภิกษุอาพาธ สร้างขึ้นโดยอ้างอิงพุทธประวัติตอนหนึ่ง เล่าถึงพระภิกษุที่อาพาธด้วยโรคท้องร่วง เมื่อพระพุทธเจ้าทอดพระเนตรจึงได้ตรัสถามถึงโรคของภิกษุรูปนั้น และทรงทราบว่าไม่มีผู้ใดพยาบาลภิกษุรูปนี้ พระพุทธองค์จึงตรัสให้พระอานนท์ไปตักน้ำมา เมื่อนำน้ำมาแล้ว พระพุทธเจ้าทรงประคองภิกษุรูปนั้นทางศีรษะแล้วทำความสะอาดร่างกายภิกษุผู้อาพาธโดยมีพระอานนท์คอยช่วยเหลือ เมื่อเรียบร้อยแล้ว พระพุทธองค์ทรงสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์และได้สอบถามภิกษุทั้งหลายถึงสาเหตุที่ไม่มีผู้ใดพยาบาลภิกษุรูปนี้ จนได้คำตอบว่า เพราะพระภิกษุรูปนั้นไม่เคยอุปการะดูแลภิกษุใด จึงไม่มีใครพยาบาลภิกษุนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่มีมารดาไม่มีบิดา ผู้ใดเล่าจะพึงพยาบาลพวกเธอ ถ้าพวกเธอจักไม่พยาบาลกันเอง ใครเล่าจักพยาบาลดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดจะพึงอุปัฏฐากเรา ผู้นั้นพึงพยาบาลภิกษุอาพาธ ถ้ามีอุปัชฌายะ อุปัชฌายะพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้ามีอาจารย์ อาจารย์พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้ามีสัทธิวิหาริก สัทธิวิหาริกพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้ามีอันเตวาสิก อันเตวาสิกพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้ามีภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะ ภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้ามีภิกษุผู้ร่วมอาจารย์ ภิกษุผู้ร่วมอาจารย์พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้าไม่มีอุปัชฌายะ อาจารย์ สัทธิวิหาริก อันเตวาสิก ภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะ หรือภิกษุผู้ร่วมอาจารย์ สงฆ์ต้องพยาบาล ถ้าไม่พยาบาล ต้องอาบัติทุกกฎ”
หรือก็คือ พระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งสอนว่า หากภิกษุไม่ดูแลกันเองแล้วใครจะมาดูแล พร้อมกับตั้งกฎว่าหากผู้ใดไม่พยาบาลจะต้องอาบัติทุกกฎ ซึ่งถือเป็นอาบัติสถานเบา
พระพุทธรูปปางพยาบาลภิกษุอาพาธในอิริยาบถยืนนั้นพบอยู่เพียงวัดเดียว นั่นก็คือ วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ภายในพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ด้านหลังพระวิหารพระอินทร์แปลง โดยตั้งอยู่ใกล้กับพระเศียรของพระพุทธไสยาสน์ จุดเด่นของพระพุทธรูปองค์นี้ คือ พระหัตถ์ทั้งสองข้างของพระพุทธรูปองค์จะอยู่ในท่าอุ้มพระภิกษุ