พิธีทอดผ้าป่า เป็นการทำบุญอีกอย่างหนึ่งของชาวพุทธ คล้ายกับพิธีทอดกฐิน แต่ไม่มีกำหนด ระยะเวลาจํากัด คือสามารถจะทอดเมื่อไรก็ได้เช่นกัน อีกทั้งยังไม่เจาะจง เกี่ยวกับภิกษุที่จะรับผ้ากฐินแต่อย่างใด
ในสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งที่พระบรมศาสดายังมิได้ทรงอนุญาตให้พระภิกษุทั้งหลาย รับจีวร จากชาวบ้าน พระภิกษุเหล่านั้นจึงต้องเที่ยวเก็บผ้าที่ขาด ทิ้งแล้ว เช่น ผ้าเปรอะเปื้อน ที่ชาวบ้านไม่ต้องการ นำมาทิ้งไว้ ผ้าห่อศพ ฯลฯ เมื่อรวบรวมผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อย พอแก่ความต้องการแล้ว จึงนำมาซักทำความสะอาด ตัดเย็บ ย้อม เพื่อทำเป็นจีวร สบง หรือสังฆาฏิ ผืนใดผืนหนึ่ง การทำจีวรของภิกษุในสมัยพุทธกาล จึงค่อนข้างยุ่งยาก และเป็นงานใหญ่ ดังที่กล่าวไว้แล้วในเรื่องพิธีทอดกฐิน ครั้นชาวบ้านทั้งหลาย เห็นความยากลำบากของพระภิกษุสงฆ์ ต้องการจะนำผ้ามาถวาย แต่เมื่อยังไม่มีพุทธานุญาต โดยตรง จึงนำผ้าไปทอดทิ้งไว้ ณ ที่ต่างๆ เช่นในป่า ตามป่าช้า หรือข้างทางเดิน เมื่อภิกษุสงฆ์มาพบ เห็นว่าเป็นผ้าที่ผู้เป็นเจ้าของทอดอาลัยแล้ว ก็นำเอาทำเป็นสบง จีวร
1. เป็นการสงเคราะห์พระสงฆ์ให้สะดวกด้วยปัจจัยสี่ หรือสิ่งที่จำเป็นในการครองสมณเพศ มีจีวร หรือผ้านุ่งห่ม เป็นต้น
2. เป็นการช่วยเหลือทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เพราะเมื่อพระสงฆ์ได้รับความสะดวกตามสมควรก็จะได้เป็นกำลังสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
3. ได้ชื่อว่าเป็นการถวายทานแด่ท่านผู้ทรงศีล ซึ่งนับเป็นการบูชาท่านผู้ทรงศีล-บูชาท่านผู้ควรบูชา และเป็นทานที่มีคุณค่าสูง
4. เป็นการอบรมจิตใจของผู้บริจาคให้มีการเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม คือ พระพุทธศาสนาซึ่งเป็นหลักทางจิตใจของประชาชนในชาติสืบไป
5. เป็นการส่งเสริมความมีสามัคคีธรรมของหมู่คณะ
6. เป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนมีความมั่นคง เป็นปึกแผ่นสืบไป