ประวัตินางสงกรานต์มีที่มาจากเรื่องเล่าตำนานนางสงกรานต์ โดยอ้างอิงตามจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ
ตำนานเล่าว่า มีเศรษฐีฐานะร่ำรวยคนหนึ่ง ไม่มีบุตร จึงไปบวงสรวงขอบุตรกับพระอาทิตย์ และพระจันทร์ แต่รอหลายปีก็ไม่มีบุตรสักที จนกระทั่งถึงฤดูร้อนปีหนึ่ง เศรษฐีได้นำข้าวสารซาวน้ำ 7 สี หุงบูชารุกขพระไทร พร้อมเครื่องถวาย และการประโคมดนตรี โดยได้ตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร พระไทรได้ฟังก็เห็นใจ จึงไปขอบุตรกับพระอินทร์ให้เศรษฐี ต่อมาเศรษฐีได้บุตรชาย และตั้งชื่อว่า “ธรรมบาลกุมาร”
ธรรมบาลกุมารเป็นคนฉลาดหลักแหลม จนมีชื่อเสียงร่ำลือไปไกล ทำให้ท้าวกบิลพรหมได้ลงมาท้าทายปัญญา โดยได้ถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร ให้เวลา 7 วัน หากฝ่ายใดแพ้จะต้องตัดศีรษะบูชา ท้ายที่สุดธรรมบาลกุมารสามารถตอบปัญหาได้ ท้าวกบิลพรหมจึงต้องเป็นฝ่ายตัดศีรษะ แต่หากศีรษะนี้ตกลงพื้นโลก จะเกิดเพลิงไหม้โลก
ท้าวกบิลพรหมจึงสั่งให้บาทบาจาริกาของพระอินทร์ทั้ง 7 นาง สลับหน้าที่หมุนเวียนทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียร หรือศีรษะของตนแห่รอบเขาพระสุเมรุปีละ 1 ครั้ง ซึ่งตรงกับช่วงมหาสงกรานต์ โดยนางสงกรานต์ทั้ง 7 มีชื่อ ดังนี้
ทุงษเทวี เป็น นางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์
โคราดเทวี เป็น นางสงกรานต์ประจำวันจันทร์
รากษสเทวี เป็น นางสงกรานต์ประจำวันอังคาร
มัณฑาเทวี เป็น นางสงกรานต์ประจำวันพุธ
กิริณีเทวี เป็น นางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี
กิมิทาเทวี เป็น นางสงกรานต์ประจำวันศุกร์
มโหทรเทวี เป็น นางสงกรานต์ประจำวันเสาร์
คติความเชื่อ และเรื่องราวประวัติวันสงกรานต์ จึงเชื่อมโยงกับโหราศาสตร์การเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์เข้าสู่ราศีเมษในช่วงวันมหาสงกรานต์ โดยในแต่ละปีก็จะมีชื่อนางสงกรานต์ทั้ง 7 สลับหมุนเวียนกัน
นางสงกรานต์ 2568 และคำทำนาย
นางสงกรานต์ทุงษเทวี นางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์ ทัดดอกทับทิม มีปัทมราค (แก้วทับทิม) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ อุทุมพร (มะเดื่อ) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือสังข์ เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์ครุฑ
เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2568 ฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง ได้ประกาศ สงกรานต์ 2568 ความว่า
ปีมะเส็ง (มนุษย์ผู้ชาย ธาตุไฟ) สัปตศก จุลศักราช ๑๓๘๗ ทางจันทรคติ เป็น อธิกวาร ทางสุริยคติ เป็น ปกติสุรทิน
วันที่ ๑๔ เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติ ตรงกับวันอาทิตย์ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๕ เวลา ๐๔ นาฬิกา ๒๘ นาที ๒๘ วินาที
นางสงกรานต์ ทรงนามว่า ทุงสะเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราค ภักษาหารอุทุมพร (มะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จไสยาสน์หลับเนตรมาเหนือหลังครุฑเป็นพาหนะ
วันที่ ๑๖ เมษายน เวลา ๐๘ นาฬิกา ๒๗ นาที ๓๖ วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่ เป็น ๑๓๘๗ ปีนี้ วันศุกร์ เป็น ธงชัย, วันศุกร์ เป็น อธิบดี, วันพฤหัสบดี เป็น อุบาทว์, วันอาทิตย์ เป็น โลกาวินาศ
ปีนี้ วันพุธ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก ๖๐๐ ห่า ตกในโลกมนุษย์ ๖๐ ห่า ตกในมหาสมุทร ๑๒๐ ห่า ตกในป่าหิมพานต์ ๑๘๐ ห่า ตกในเขาจักรวาล ๒๔๐ ห่า นาคให้น้ำ ๕ ตัว
เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ ๖ ชื่อ ลาภะ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ผล ๙ ส่วน เสีย ๑ ส่วน ธัญญาหาร (ข้าว) พลาหาร (ผลไม้) มัจฉมังสาหาร (เนื้อสัตว์) จะบริบูรณ์ อุดมสมบูรณ์ ประชาชนทั้งหลายจะเป็นสุขสมบูรณ์แล
เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีอาโป (น้ำ) น้ำมาก
คำทำนาย สงกรานต์ 2568
วันอาทิตย์ เป็นวันมหาสงกรานต์ ไร่นาเรือกสวน เผือกมัน มิสู้แพงแลฯ , วันจันทร์ เป็นวันเนา เกลือจะแพง นางพระยาจะร้อนใจ มักจะเกิดความไข้ต่าง ๆ , วันพุธ เป็นวันเถลิงศก ราชบัณฑิต ปุโรหิตโหราจารย์ จะมีสุขสำราญเป็นอันมากแลฯ , นางสงกรานต์ ไสยาสน์หลับเนตร (นอนหลับตา) พระมหากษัตริย์จะเจริญรุ่งเรืองดี